In Global

3ปีรถไฟจีน-ลาวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยวจีน-ลาว



3 ธันวาคม 2021 หรือเมื่อ 3 ปีก่อน เป็นวันแรกที่รถไฟจีน-ลาว เริ่มให้บริการเส้นทางคุนหมิง มณฑลยูนนาน ถึง กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระยะทางรวม 1,035 กิโลเมตร China Railway ระบุว่า 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้โดยสารรถไฟจีน-ลาว กว่า 43 ล้านคน และขนส่งสินค้ากว่า 48.3 ล้านตัน

จำนวนผู้โดยสารในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในระยะแรกของการให้บริการ  มีผู้โดยสารเดือนละประมาณ 600,000 คน จนถึงปัจจุบัน มีผู้โดยสารเดือนละประมาณ 1.6 ล้านคน 

ขณะที่การขนส่งสินค้าก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้น จากที่มีรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างประเทศวันละ 2 ขบวน จนตอนนี้ มีรถไฟขนส่งสินค้าให้บริการวันละ 18 ขบวน มีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศกว่า 10.6 ล้านตัน สินค้าที่ขนส่งผ่านรถไฟจีน-ลาว จะถูกส่งไปยัง 19 ประเทศ เช่น สปป.ลาว ไทย เวียดนาม และสิงคโปร์

ศุลกากรคุนหมิง ยังระบุด้วยว่า สินค้าที่ขนส่งผ่านทางรถไฟจีน-ลาว เพิ่มขึ้นจากประมาณ 500 รายการเป็นมากกว่า 3,000 รายการ ปริมาณการขนส่งรายเดือนสูงสุดมีปริมาณกว่า 510,000 ตัน เติบโตขึ้น 12.6 เท่า

ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ รถไฟ-จีนลาวขนส่งสินค้ากว่า 4.34 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 16,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 80,000 ล้านบาท มีการส่งออกผลไม้คิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 158 ล้านหยวน หรือกว่า 790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 51 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่มีการนำเข้าผลไม้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.3% เส้นทางนี้ช่วยให้การขนส่งผลไม้สดจากไทยไปยังจีน รวดเร็วขึ้น ช่วยลดทั้งระยะเวลาการเดินทาง และช่วยลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 20%

ในด้านการท่องเที่ยว เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของจีน-ลาว อย่างมาก ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองต่างๆ ของจีน เช่น คุนหมิง ผู่เอ๋อ และสิบสองปันนา ในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน  และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในสปป.ลาว เช่น วังเวียง หลวงพระบาง เพิ่มมากขึ้น มีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 346,000 คน จาก 108 ประเทศ เดินทางมาท่องเที่ยวตามเส้นทางนี้

นับได้ว่าการให้บริการรถไฟจีน-ลาว เป็นโครงการสําคัญของความร่วมมือในโครงการสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road) ช่วยทำให้สปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล กลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาคระหว่างจีน ลาว ไทย และประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เส้นทางทางรถไฟสายนี้จึงเป็นสะพานเชื่อมการค้าในภูมิภาค ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามเส้นทางรถไฟได้อย่างมาก

เข้าสู่ปีที่ 4 ของการให้บริการรถไฟจีน-ลาว จีนและสปป.ลาว ยังคงเดินหน้ายกระดับบริการรถไฟสายนี้ ดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดรถไฟจีน-ลาว เมื่อ 3 ปีก่อน ว่ารถไฟสายนี้เป็นสิ่งแสดงถึงความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศ ทั้ง 2 ฝ่ายควรพยายามพัฒนาการดำเนินงานรถไฟจีน-ลาว ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างเส้นทางสายทองคำที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้ง 2 ประเทศ

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย

ข้อมูล/ภาพ : CGTN