In News

นายกฯเรียกถกเข้มรับมือฝนถล่มใต้รอบ2 คอลฯ12ผู้ว่าฯจว.เสี่ยงเฝ้าระวัง12ธ.ค.นี้



กรุงเทพฯ-พร้อมรับมือ ฝนระลอกสองภาคใต้ สัปดาห์นี้ นายกฯ “แพทองธาร” ประชุมวิดีโอคอล 12 ผู้ว่าฯ จว.ใต้ สั่งพร้อมรับมือฝนระลอกสองภาคใต้ 12 ธันวาคมนี้ พร้อมขอบคุณส่วนราชการพื้นที่ลดขั้นตอนพื้นที่ไม่ต้องรอเงินเยียวยานานหลัง มท1 รายงานจ่ายแล้วเกือบ 90 เปอร์เซนต์

วันนี้ (9 ธันวาคม 2567) เวลา 15.00 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้เพื่อรับรายงานความเสียหาย และการเตรียมการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ผ่านระบบ Video Conference กับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้) โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าร่วม

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรีได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ 12 จังหวัด และได้ประชุมกับผู้ว่าราชการทั้ง 12 จังหวัด โดยแจ้งว่าได้ปรับหลักเกณฑ์การอนุมัติเงินฉุกเฉินระดับจังหวัด จาก 20 ล้านบาท เป็น 70 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ 5 พันล้านบาทในการช่วยเหลือ รายละ 9,000 บาทไปแล้ว โดยได้จ่ายเยียวยาเบื้องต้นไปแล้วกว่า 2,700 ล้านบาท ซึ่งขอบคุณจังหวัดที่สามารถทยอยมอบให้ ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ไม่เหมือนในอดีตที่ต้องรอนานหลายเดือนกว่าจะได้รับ

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้ ศปช.ส่วนหน้าให้เตรียมพร้อมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเนื่องจากสัปดาห์นี้ในวันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคมนี้ ศปช.ได้แจ้งเตือนแล้วว่าจะมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้ ขอให้ส่วนหน้าเตรียมพร้อมรับมือให้ทันสถานการณ์ตลอด 24 ชม.
ด้าน นายอนุทิน กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ทำงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานคณะทำงาน ได้มีการสั่งการคนที่ดูแลพื้นที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที ที่ผ่านมานายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ลงพื้นที่ไปแล้ว โดยได้รายงานพื้นที่ประสบอุทกภัยกลับมา รัฐบาลยินดีพร้อมที่จะดูแลประชาชน ขณะเดียวกันได้รับเสียงสะท้อนจากหลายจังหวัดว่าระดับน้ำลดลง ตนเองรู้สึกอุ่นใจขึ้น แต่สถานการณ์น้ำในพื้นที่ใดยังมีจำนวนมาก หากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ส่วนสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน น้ำประปา ที่ติดปัญหาก็ขอให้แจ้งให้ชัดเจน เพื่อจะได้ส่งความช่วยเหลือให้ถูกต้อง เพราะต้องการให้ประชาชนกลับมามีชีวิตที่ปกติได้รวดเร็ว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ล่าสุดตนเองได้กลับไปดูพื้นที่น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย ภาพรวมกลับมาเป็นปกติแล้ว แต่ยังต้องบำรุงรักษาให้เกิดความสวยงามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจังหวัดพร้อมเปิดการท่องเที่ยวแล้ว ดังนั้น ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ถือว่ามีบทเรียน และมีกรณีตัวอย่างจากทางภาคเหนือและอีสานแล้ว จึงสามารถที่จะลงช่วยเหลือพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมก็ถือว่ามีข้อดีอยู่บ้าง นั่นคือ การช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว

ภายหลังรับฟังรายงานความเสียหาย และการเตรียมการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ผ่านระบบ Video Conference กับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้) นายกรัฐมนตรีกล่าวขอขอบคุณผู้ว่าราชการภาคใต้ 12 จังหวัด ที่ได้ทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกับสั่งการให้ดำเนินการ ดังนี้

1. ด้านชีวิตความเป็นอยู่ ให้ทุกหน่วยงานเร่งเข้าให้การช่วยเหลือ ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ดูแลด้านการดำรงชีพเบื้องต้นให้เพียงพอ และให้พิจารณาถึงความต้องการพิเศษโดยเฉพาะผู้ประสบภัยกลุ่มเปราะบาง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการฟื้นฟูในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
2. ด้านสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน เร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า และระบบน้ำประปา ในพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาให้บริการประชาชนได้ตามปกติโดยเร็ว  ออกมาตรการลดผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา ระบบโทรคมนาคม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเร็ว

3. การเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดจังหวัดดำเนินการ ดังนี้ เร่งรัดการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ซึ่งได้เห็นชอบใช้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 ครัวเรือนละ 9,000 บาท โดยให้สามารถเบิกจ่ายถึงมือประชาชนได้โดยเร็ว
4. การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในห้วงต่อไป ให้หน่วยงานในพื้นที่เฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแจ้งแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย โดยให้อพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว/พื้นที่ปลอดภัยที่หน่วยงานภาครัฐจัดไว้ให้ ก่อนเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ ให้เตรียมความพร้อมทรัพยากรทุกด้าน ทั้งด้านเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย กำลังเจ้าหน้าที่ ไว้ประจำในพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีเมื่อเกิดภัย

“คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 12 - 16 ธันวาคม 2567 จะเกิดฝนตกต่อเนื่องในปริมาณที่หนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ตรัง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ขอเน้นย้ำเรื่องการแจ้งเตือนภัยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง และเตรียมตัวอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย ส่วนเรื่องการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย ขอให้เร่งสำรวจความเสียหายภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย ยืนยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้กำชับทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน รวมถึงมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ได้ใช้แนวทางการช่วยเหลือเหตุการณ์ในภาคเหนือ ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น” นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ