In Bangkok
'จักกพันธุ์'แนะนำเขตปทุมวันหยิบ3พ.ร.บ. จัดระเบียบลานใต้ทางด่วนพระรามที่6
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ แนะปทุมวันหยิบ 3 พ.ร.บ. เปิดรักษาความสะอาดฯ กางสาธารณสุข ส่องควบคุมอาคาร จัดระเบียบลานใต้ทางด่วนถนนพระรามที่ 6 ถกบางรักสลับล็อคแผงค้าตามสัดส่วนทางเท้าถนนศาลาแดง ย้ำผู้ค้าอยู่ได้ประชาชนเดินดี
(21 ธ.ค. 67) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบพื้นที่บริเวณลานใต้ทางด่วนและทางเท้าถนนพระรามที่ 6 เขตปทุมวัน และการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณถนนศาลาแดง เขตบางรัก
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า เช้าวันนี้ได้ลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่บริเวณลานใต้ทางด่วนและทางเท้าถนนพระรามที่ 6 เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นจุดได้รับการร้องเรียนผ่านทาง Traffy Fondue ถึงความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีรถเข็นขายอาหารตามสั่ง ขายก๋วยเตี๋ยว ตั้งอยู่บนทางเท้าถนนพระรามที่ 6 มีการประกอบอาหารก่อให้เกิดความสกปรกจากคราบน้ำมันและเศษอาหาร รวมถึงก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์บนพื้นทางเท้า มีการล้างทำความสะอาดภาชนะประกอบอาหารและจานชาม และเทน้ำลงในท่อระบายน้ำริมถนนพระรามที่ 6 นอกจากนี้บริเวณลานใต้ทางด่วน ยังเป็นพื้นที่จอดรถบัสของผู้ประกอบการเดินรถรับส่งนักท่องเที่ยวและรถขนส่งสินค้า ซึ่งจะนำแผ่นเหล็กมาทำทางลาดสำหรับให้รถขึ้นลงทางเท้า เพื่อเข้าไปยังลานจอดรถใต้ทางด่วน จากการตรวจสอบพบว่าพื้นทางเท้าเกิดการชำรุด อีกทั้งเป็นรอยจากการลากแผ่นเหล็กขึ้นลงบนทางเท้า
ทั้งนี้ ในส่วนของรถเข็นขายอาหาร เขตปทุมวันได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้ารับทราบถึงหลักเกณฑ์ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า โดยกำหนดระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งจุดดังกล่าวไม่ตรงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าที่กำหนด เขตฯ ได้พิจารณายกเลิกจุดทำการค้าดังกล่าว ส่วนพื้นที่บริเวณลานใต้ทางด่วน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นจุดจอดรถบัสรับส่งนักท่องเที่ยวและรถขนส่งสินค้า ให้เขตฯ พิจารณาตาม พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 2.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 3.พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อใช้ในการพิจารณาจัดระเบียบพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ เขตฯ ยังมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าบริเวณใต้ทางด่วน ถนนพระรามที่ 6 ทั้ง 2 ฝั่ง ภายหลังการจัดระเบียบพื้นที่ดังกล่าว เพื่อความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยต่อไป
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า จุดต่อมาติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณถนนศาลาแดง เขตบางรัก ซึ่งเป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างถนนสีลมกับถนนสาทรเหนือ ตรงหัวมุมถนนศาลาแดงด้านถนนสีลม จะมีผู้ค้า 18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. ขายอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานประเภท ไก่ทอด หมูทอด หมูปิ้ง ข้าวเหนียว โจ๊ก ข้าวต้ม ผลไม้ กาแฟ โดยนำรถเข็นมาจอดบนทางทางเท้า บางรายตั้งโต๊ะขนาดเล็กวางสินค้า ซึ่งทางเท้าบริเวณถนนศาลาแดง จะมีความกว้างไม่เท่ากันตลอดทั้งเส้น บางจุดทางเท้าจะกว้าง 160 เซนติเมตร บางจุดทางเท้ากว้างเพียง 80 เซนติเมตร ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความไม่สะดวกในการใช้ทางเท้าสัญจรโดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน เมื่อมีประชาชนหยุดยืนรอซื้อสินค้า ซึ่งบางร้านต้องใช้ระยะเวลาในการตักอาหาร อย่างเช่นร้านโจ๊ก ข้าวต้ม ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้ซื้อสินค้าต้องลงไปเดินบนถนน อาจเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุจากการถูกรถเฉี่ยวชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดตามมา
ทั้งนี้ เขตบางรัก จะเชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในหลักเกณฑ์ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า อาจจะลดขนาดแผงค้าในจุดที่แคบให้มีขนาดเล็กลง หรือสลับจุดให้ร้านค้าที่ใช้พื้นที่ตั้งวางสินค้าจำนวนน้อยย้ายมาอยู่ในจุดที่แคบแทน โดยจะมีคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบติดตามผลการจัดระเบียบพื้นที่ เพื่อให้เป็นตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าที่กำหนด ผู้ค้าสามารถทำการค้าอยู่ได้ภายใต้หลักเกณฑ์หาบเร่-แผงลอย ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าในการเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
สำหรับเขตปทุมวัน มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 15 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 248 ราย ดังนี้ 1.ซอยร่วมฤดี ผู้ค้า 5 ราย 2.ซอยต้นสน ผู้ค้า 17 ราย 3.ซอยปลูกจิต ผู้ค้า 24 ราย 4.ซอยโปโล ผู้ค้า 3 ราย 5.ถนนพญาไท หน้าห้างสยามสเคป ผู้ค้า 9 ราย 6.สะพานหัวช้าง ถนนพระรามที่ 1 ผู้ค้า 6 ราย 7.ข้างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ผู้ค้า 99 ราย 8.ซอยเกษมสันต์ 3 ผู้ค้า 3 ราย 9.ซอยจุฬาลงกรณ์ 4 ผู้ค้า 7 ราย 10.ซอยเกษมสันต์ 1 ผู้ค้า 6 ราย 11.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันออก ผู้ค้า 35 ราย 12.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันตก ผู้ค้า 4 ราย 13.ถนนพระรามที่ 6 หน้าส.โบตั๋น ผู้ค้า 6 ราย 14.ถนนจรัสเมือง ตรงข้ามสีตบุตร ผู้ค้า 16 ราย 15.ถนนจรัสเมือง หน้าแฟลตรถไฟ ผู้ค้า 8 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 1 จุด คือหน้าวัดดวงแข ผู้ค้า 38 ราย นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดประตู 5 สวนลุมฯ ผู้ค้า 108 ราย 2.ตลาดหัวมุมแยกราชดำริ ผู้ค้า 14 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนรองเมือง (ริมรั้วรถไฟ) ผู้ค้า 4 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2567 2.ถนนหลังสวน ผู้ค้า 24 ราย ยกเลิกวันที่ 30 เมษายน 2567 ส่วนรอบศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ ผู้ค้า 3 ราย ยกเลิกวันที่ 31 สิงหาคม 2567 สำหรับพื้นที่รอประกาศให้เป็นพื้นที่ทำการค้า จำนวน 4 จุด เขตฯ ได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าดังกล่าวแล้ว จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.บริเวณตลาดโรเล็กซ์ ถนนวิทยุ ผู้ค้า 20 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2567 2.ถนนสารสิน ผู้ค้า 25 ราย ยกเลิกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 3.ถนนหลังสวน ผู้ค้า 34 ราย ยกเลิกวันที่ 1 พฤษภาคม 2567
ส่วนเขตบางรัก มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 32 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 618 ราย ได้แก่ 1.ถนนนเรศ (ซอยพระพุทธโอสถ) ผู้ค้า 18 ราย 2.ถนนนเรศ (ซอยสันติภาพ) ผู้ค้า 3 ราย 3.ถนนพระรามที่ 4 (หน้าวัดหัวลำโพง) ผู้ค้า 38 ราย 4.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ซอย 1 ฝั่งขวา) ผู้ค้า 30 ราย 5.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ซอย 1 ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 19 ราย 6.ซอยสันติภาพ 1 ผู้ค้า 13 ราย 7.ซอยเจริญกรุง 43 ผู้ค้า 13 ราย 8.ซอยสาทร 8 ผู้ค้า 3 ราย 9.ถนนศาลาแดง ผู้ค้า 45 ราย 10.ซอยศาลาแดง 2 ผู้ค้า 14 ราย 11.ซอยศาลาแดง 1 ผู้ค้า 15 ราย 12.ซอยสีลม 20 ผู้ค้า 80 ราย 13.ปากซอยมเหสักข์ ผู้ค้า 4 ราย 14.ซอยสีลม 30 ผู้ค้า 4 ราย 15.ซอยสีลม 22 ผู้ค้า 3 ราย 16.ซอยเจริญกรุง 47/3 ผู้ค้า 10 ราย 17.ซอยปราโมทย์ 3 ผู้ค้า 12 ราย 18.ซอยโทรคาเดโร ผู้ค้า 3 ราย 19.ซอยอนุมานราชธน ผู้ค้า 4 ราย 20.ถนนศรีเวียง ฝั่งซ้าย ผู้ค้า 20 ราย 21.ถนนศรีเวียง ฝั่งขวา ผู้ค้า 34 ราย 22.ถนนเจริญกรุง ฝั่งตรงข้ามโรบินสัน ผู้ค้า 24 ราย 23.ถนนเจริญเวียง ผู้ค้า 18 ราย 24.ซอยสาทร 10 ผู้ค้า 15 ราย 25.ซอยสาทร 12 ผู้ค้า 4 ราย 26.ซอยสีลม 9 ผู้ค้า 10 ราย 27.ข้างสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ผู้ค้า 5 ราย 28.ถนนประมวล ผู้ค้า 9 ราย 29.ถนนปั้น ข้างวัดแขก ผู้ค้า 10 ราย 30.ถนนปั้น ปากซอยถนนปั้น ผู้ค้า 13 ราย 31.ซอยสีลม 19 ผู้ค้า 7 ราย 32.ซอยสีลม 5 ผู้ค้า 118 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 181 ราย ได้แก่ 1.ถนนคอนแวนต์ ฝั่งซ้าย-ฝั่งขวา ผู้ค้า 91 ราย 2.ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 7 ราย 3.ซอยสีลม 9 ถึงซอยสาทร 12 ผู้ค้า 17 ราย 4.ถนนสีลม หัวมุมถนนมเหสักข์ ถึงปากซอยสีลม 12 ผู้ค้า 6 ราย 5.ถนนสุรวงศ์ ขาเข้า ผู้ค้า 60 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 7 ราย 2.ถนนสีลม ผู้ค้า 6 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ตุลาคม 2567
ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายวรชล ถาวรพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสาวเมธาวี ธารดำรงค์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน นายอิทธิพล อิงประสาร ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน สำนักงานเขตบางรัก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล