In Thailand

ค.ร.อ.ท.คัดค้านประกาศสรรหานายกสภา สถาบันอาชีวะ14แห่ง



กรุงเทพฯ-เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย คัดค้านประกาศสรรหานายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา 14 แห่ง เหตุไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

นายเศรษฐศิษฏ์  ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้อ้างอำนาจตามพรบ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 มาตรา 23 (1) ได้ออกประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาของนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา การเสนอชื่อ ผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบัน  จำนวน 14 สถาบัน นั้น  เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) ในฐานะองค์กรภาคประชาชนที่ติดตามการทำงานของบุคลากรภาครัฐในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อให้องค์กรภาครัฐดำเนินการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนได้พิจารณาและได้รับการร้องขอจากบุคคลทั้งในส่วนของรัฐและในส่วนของประชาชน ให้มีการคัดค้านประกาศฯ ดังกล่าว ในประเด็นที่เชื่อว่าประกาศดังกล่าว ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติและมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการอาชีวศึกษา ได้เข้าไปรับการสรรหา เพื่อแต่งตั้งให้เป็นนายกสภาสถาบัน อันเป็นการกำจัดสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ดังจะเห็นได้จากประกาศของคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดังกล่าว ในข้อ 4  ซึ่งกำหนดให้ผู้มีสิทธิเสนอชื่อ ได้แก่
(1)    คณะกรรมการการอาชีวศึกษา
(2)    สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
(3)    ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีศึกษาหรือผู้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา 

จากข้อกำหนดในข้อ 4 (1)(2)(3) ดังกล่าว ย่อมแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าการออกข้อกำหนดดังกล่าว แม้จะเป็นฐานอำนาจในการออกประกาศตามกฎหมายโดยถูกต้องก็ตาม แต่โดยหลักการใหญ่ของการบริหารบ้านเมือง  
แล้วจะต้องบริหารให้เป็นไปตามหลักบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) แต่การที่คณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ออกประกาศในลักษณะดังกล่าวและย่อมเป็นการชี้ชัดว่าไม่คำนึงถึงหลักบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) ดังกล่าว ซ้ำยังเป็นการกระทำเพื่อให้คนใดคนหนึ่งที่เป็นพรรคพวกของตนเองได้รับการสรรหาเข้ามาเพื่อเสนอชื่อให้รัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นนายกสภาสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจส่อไปถึงการทำหน้าที่โดยทุจริต  

ประเด็นที่ 2 ตามที่อ้างถึง2 กรณีที่ได้มีการประกาศและดำเนินการเลือกผู้ที่มีความแหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันฯซึ่งดำเนินการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 10  กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งถือว่าการดำเนินการดังกล่าวได้เป็นไปตามขั้นตอน โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วแม้ระยะเวลาได้ล่วงเลยมาเนิ่นนานและได้มีบุคคลบางคนที่ได้รับการเสนอชื่อ ได้เสียชีวิต จำนวน 2  รายจาก 2 สถาบัน คือสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 และสถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3   แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการแต่งตั้งให้เป็นนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาแต่ประการใด จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการหรือสั่งการใดๆ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อันส่อให้เห็นถึงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย

จากประเด็นที่กล่าวมา เครือข่ายฯ ขอนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า การออกประกาศของคณะกรรมการการอาชีวศึกษาตามที่อ้างถึง 1 เป็นการออกประกาศฯ ที่เอื้อประโยชน์ต่อบุคคลหนึ่งคนใดเพื่อให้ได้รับประโยชน์โดยตรงหรือโดยอ้อม จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณา ดังนี้
1. ขอให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการได้มาของนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา เรื่อง การเสนอชื่อ ผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบัน ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2564 (จำนวน  14 แห่ง) 
2. หากมีการประกาศใหม่ ขอให้มีการเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีคุณสมบัติมีความรู้ความสามารถที่ประสงค์จะสมัครเข้ารับการสรรหาและบุคลากรในส่วนของอาชีวศึกษาได้มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อผู้มีความเหมาะสมและมีความสามารถได้เข้าร่วมการคัดเลือกนายกสภาสถาบันฯ อย่างเท่าเทียมกันและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
3. ในการประกาศใหม่(ถ้ามี)ไม่สมควรที่จะให้คณะกรรมการการอาชีวศึกษาซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณานำรายชื่อผู้มีความเหมาะสมตามพรบ.การอาชีวศึกษาม.23(1) เป็นผู้มีส่วนในการเสนอรายชื่อ เพราะอาจจะทำให้กระบวนการสรรหาฯ ขาดความยุติธรรมและไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและขัดต่อ พ.ร.บ.วิ.ปกครองฯ 
4. ขอให้มีการพิจารณาดำเนินการในส่วนที่ได้มีการดำเนินการสรรหานายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษา จำนวน  9   แห่ง ไปแล้วตามที่อ้างถึง 2 ให้สิ้นสุดเพื่อประโยชน์ทางราชการต่อไป