Think In Truth

เปิดเส้นทางด้านมืดของ'ว้า'รัฐแห่ง(ราชา) ยาเสพติด โดย : ยศเสธ



ชาวว้าประกอบอาชีพการเกษตรเพื่อยังชีพโดยการปลูกข้าวดอย (dry rice) และพืชพันธุ์อีกหลายชนิดในไร่หมุนเวียน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ชาวว้าอยู่อาศัยไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ชาวว้าจึงปลูกฝิ่นเป็นพืชทางเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นเป็นเรื่องปกติในศตวรรษที่ 19 ที่พื้นที่สูงส่วนใหญ่ในประเทศเมียนมาจะปลูกฝิ่น โดยชาวว้าจะส่งฝิ่นออกขายไปยังประเทศจีน มีเพียงส่วนน้อยที่เก็บไว้เพื่อใช้รักษาโรค (Fiskesjö, M.,2000)

ในปัจจุบันรัฐบาลของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าหรือสหพรรครัฐว้า (United Wa State Party : UWSP)เป็นที่รู้จักกันในสื่อและสังคมโลกว่าเป็นรัฐแห่งยาเสพติด (narcotic-state) เนื่องจากถูกมองว่ารายได้หลักของรัฐบาลว้าคือยาเสพติดประเภทยาบ้า เฮโรอีน และฝิ่น อีกทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มกองกำลังที่แข็งแกร่งที่สุดในเมียนมาที่มีกำลังพลกว่า 20,000 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศจีน ทั้งในเรื่องการทหารและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Chin, K.-L., 2009) ชาวจีนและชาวว้ามีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กันมาอย่างยาวนาน (วิศรุต แสนคำ, 2564 :1)

 

จากข้อมูลชาติพันธุ์ชาวว้าในเมืองหลานชางของ เขตมณฑลยูนนาน ประเทศจีน พบว่ามีลักษณะสังคมชายเป็นใหญ่ แต่ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่าโครงสร้างทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ว้านั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างเช่นสังคมของชาวว้าในจุดหนึ่งเคยมีลักษณะสังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ แต่เมื่อมีการรบและเกิดสงครามขึ้นบ่อยครั้งทำให้ผู้ชายมีส่วนสำคัญมากขึ้นจนกลายเป็นสังคมที่ชายเป็นใหญ่ (Satyawadhna, C., 1991)

ประเทศเมียนมานับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มาตั้งแต่ในอดีตและมีการแลกเปลี่ยนกันทางวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งต่อสู้กันคล้ายกับเหล่าบรรดาอาณาจักรในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนเมื่อกระทั่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของพม่าเมื่อครั้งตกเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษที่มีการนำนโยบายแบ่งแยกและปกครอง (divide and rule) มาใช้ ซึ่งในกรณีของประเทศเมียนมาถูกแบ่งโดยอังกฤษเป็นพม่าพื้นราบคือส่วนที่อังกฤษปกครองโดยตรง (proper Burma) และส่วนที่สองคือบริเวณภูเขา (hill areas) รวมไปถึงบริเวณชายแดน (frontier Areas) (พรพิมล ตรีโชติ, 2542) ในส่วนที่สองนั้นได้รวมไปถึงพื้นที่บริเวณที่ชาวว้าอาศัยอยู่ซึ่งถูกจัดรวมเข้าไปในเขตของรัฐฉาน (Shan State) อย่างไรก็ตามในการปกครองของอังกฤษนั้นได้แบ่งแยกคนว้าออกเป็น 2 กลุ่มคือ

  • กลุ่มที่เชื่อฟัง (Tame Wa) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของเขตไทใหญ่ (the Federated Shan States)
  • กลุ่มที่ไม่เชื่อฟังหรือ ว้าป่าที่จะปกครองกันเองในกลุ่มหมู่บ้านผ่านความสัมพันธ์ในครอบครัว (Fiskesjö, M., 2013)

ในยุคอาณานิคมที่อยู่อาศัยของคนว้าในเขตแดนที่เป็นประเทศเมียนมาในปัจจุบันได้กลายมาเป็นพื้นที่ในอาณัติของประเทศอังกฤษแต่พื้นที่ส่วนใหญ่กลับถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้และไม่ได้มีการเข้าไปจัดการการปกครองแต่อย่างใด เพราะการจะเข้าไปจัดการปกครองในพื้นที่เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก รวมไปถึงการที่ต้องใช้กำลังทหารขนาดใหญ่ในการจัดการและภายหลังพม่าได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ

ในปีพ.ศ. 2491 ชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาปางโหลงเพื่อให้รัฐต่าง ๆ ของชนกลุ่มน้อยมีสิทธิแยกออกไปตั้งเป็นประเทศของตนเองภายหลังจากอยู่ร่วมกันก่อนเป็นเวลาสิบปี แต่การลงนามในครั้งนี้ไม่ได้มีตัวแทนของคนว้าไปร่วมลงนามด้วย จะมีแต่ตัวแทนจากรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น และชินที่ได้ลงนามในสนธิสัญญาปางโหลง และทำให้โดยหลักการแล้วรัฐฉานมีสิทธิในการจัดการพื้นที่ที่คนว้าอาศัยอยู่ อย่างไรก็ตาม คนไทใหญ่ก็ไม่ได้เข้าไปมีอำนาจปกครองในพื้นที่ของคนว้าป่าแต่อย่างใด (Fiskesjö, M., 2013)

ภายหลังจากประเทศเมียนมาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษไม่นานนัก ในช่วงปีพ.ศ. 2492 พื้นที่ของชาวว้าก็ยังคงร้อนระอุไปด้วยการต่อสู้และสงครามหลายครั้ง โดยเกิดจากความพยายามเข้ามาของกลุ่มคนนอกเพื่อชักชวนคนว้าให้เข้าร่วมกลุ่มกองกำลังแรกก็คือกองกำลังชาตินิยมจีนของก๊กมินตั๋ง (The Kuomintang) นำโดย เจียง ไค เชค ที่ถอยร่นมาจากจีนเนื่องจากพ่ายแพ้ให้แก่กลุ่มคอมมิวนิสต์จีนของ เหมา เจอ ตุง (Kramer, T., 2007) การต่อสู้กันระหว่างกลุ่มกองกำลังปลดปล่อยประชาชน (The Chinese People’s Liberation Army) และกลุ่มของกองกำลังชาตินิยมจีนเป็นไปอย่างยาวนานจนในที่สุดกองกำลังชาตินิยมจีนก็ได้ถูกขับออกไปจากพื้นที่และเกิดการรวมพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ว้าและชาวจีนโกกั้งเข้ามาเป็นเขตปกครองพิเศษภายใต้โครงการกาก่วยเย(KaKwe Ye : KKY ของรัฐบาลเมียนมาในช่วงทศวรรษ 1960 ที่มีนโยบายในการจัดตั้งกองกำลังป้องกันประจำหมู่บ้านเพื่อตอบโต้กับการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าของนายพล เนวิน (The Lahu National Development Organisation, 2002)

ระยะหลังในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2511- 2532 ชาวว้าและชาวโกกั้งได้เป็นกองกำลังหลักที่สำคัญของกองทัพประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศพม่า (Communist Party of Burma : CPB) ที่รับการสนับสนุนจากจีนและแผ่อิทธิพลเข้ามาในเขตตะวันออกของรัฐฉาน แต่ด้วยความอ่อนแอลงของ CPB จากการลดการสนับสนุนของรัฐบาลจีนและการรบที่ผิดพลาดหลายครั้งทำให้กองกำลังโกกั้งและกองกำลังว้าได้ทำการปฏิวัติและยึดพื้นที่คืนจาก CPB และกองกำลังว้าจึงได้ก่อตั้งพรรคสมานฉันท์แห่งชาติพม่า (The Myanmar Nationalities Solidarity Party) ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสหพรรครัฐว้า (United Wa State Party) โดยมีกองทัพรวมแห่งรัฐว้า (United Wa State Army) อยู่ใต้บังคับบัญชา (Kramer, T., 2007)

ในฐานะรัฐที่เกิดขึ้นใหม่อย่างรัฐว้าท่ามกลางสงครามกลางเมืองของประเทศเมียนมามีส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลว้าเข้าไปมีส่วนพัวพันกับยาเสพติดตั้งแต่ฝิ่น เฮโรอีน และล่าสุดคือยาบ้า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ผู้คนต่างชาติให้ความสนใจกันมากและมีงานศึกษามากมายที่ได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างเช่นในงานศึกษาชื่อ “Policy Studies 38 The United Wa State Party: Narco-Army or Ethnic Nationalist Party” โดย Tom Kramer (2007) ที่ได้กล่าวว่าปัญหาเรื่องยาเสพติดนั้นได้เกิดขึ้นก่อนการเกิดขึ้นของรัฐบาลว้าและปัญหาอื่น ๆ ของรัฐว้าคือด้านนโยบายที่ไม่มีความมั่นคงและมีการปกครองแบบบนลงล่างและยังเสนออีกว่าแม้ว่าต่างชาติอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและไทยจะมองว่ารัฐว้าเป็นรัฐแห่งยาเสพติด

 

ทั้งนี้โดยรัฐว้ามีเป้าหมายใหญ่กว่าคือการสร้างรัฐ ในเรื่องปัญหายาเสพติดนี้มีอีกหนึ่งงานที่น่าสนใจคือ“The Golden Triangle Inside Southeast Asia’s Drug Trade” โดย Ko-Lin Chin (2009) โดยงานของเขาเกิดจากการเก็บข้อมูลภาคสนามในรัฐว้าโดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องปัญหายาเสพติด จากการเก็บข้อมูลจากทั้งผู้ผลิต ผู้เสพและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐว้า Chin เสนอว่าการที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติดในรัฐว้านั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมองให้เห็นถึงการเมืองที่เกี่ยวพันอยู่เบื้องหลังและปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดในรัฐว้าขึ้นอยู่กับการเมืองที่ใหญ่กว่านั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เพราะว่าความสัมพันธ์นี้เองส่งผลต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่นประเทศอเมริกามีอิทธิพลต่อประเทศไทย หรือประเทศจีนที่มีอิทธิพลต่อรัฐว้าและประเทศเมียนมา

ปัจจุบันพื้นที่ที่ชาวว้าอาศัยอยู่ได้ถูกแบ่งโดยเส้นเขตแดนระหว่างประเทศเมียนมาและประเทศจีน กลายเป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของจีนในเขตมณฑลยูนนานและเป็นพื้นที่ทางตอนเหนือของเมียนมาในเขตรัฐฉาน ชาวว้ามีที่อยู่ประมาณ 1,000,000 คนจึงได้ถูกแบ่งออกไปอยู่ในพื้นที่ของทั้งสองประเทศ ประมาณ 320,000 คนได้อาศัยอยู่ในเขตมณฑลยูนนานทางใต้ติดชายแดนเมียนมาและประมาณ 520,000 คนอยู่ในบริเวณรัฐฉานของประเทศเมียนมาติดชายแดนจีน

บรรยายภาพ :      พรรคสหรัฐว้า ; UWSA / UWSP ยื่นข้อเสนอผ่านทหารเมียนมา ขอแยกตัวจากรัฐบาลท้องถิ่นฉาน-ผนวกดินแดนติดไทยเพิ่ม ขึ้นตรงรัฐบาลกลางพม่า

ชาวว้าที่อยู่ในประเทศเมียนมานั้นจะอยู่ในบริเวณเขตสหภาพรัฐว้า (Wa Special Region 2) ที่แบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่คือรัฐว้าทางเหนือ (Northern Wa State) อยู่บริเวณชายแดนจีน-เมียนมา โดยมีชาวว้าอยู่ประมาณ 320,000 คน และอีกประมาณ 200,000 คนที่อาศัยอยู่ในรัฐว้าทางใต้ (Southern Wa State) ที่ติดชายแดนไทยบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย (Kramer, T., 2007)

จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีชาวว้าเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานมากกว่า 60 ปีแล้วซึ่งสอดคล้องกับการราบงานของ นรเศรษฐ์ พิสิฐพันพร (2552) ที่ได้ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ว้าที่เข้ามาในประเทศไทยพร้อม ๆ กับกองกำลังทหารก๊กมินตั๋งหรือจีนคณะชาติดังนั้นชาวว้าในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1) กลุ่มที่เข้ามาประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2516 – 2523 และ 2) กลุ่มชาวว้าที่เข้ามาในไทยหลังการเกิดขึ้นของรัฐว้าทางใต้ใน พ.ศ.2542

ชาวว้ากลุ่มแรกนั้นเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์และไม่ยินยอมเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า สมาชิกของกลุ่มนี้ยังเคยเข้าร่วมกองกำลังอาสาสมัครให้กับรัฐบาลไทยในการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงประมาณ พ.ศ.2516 (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2548) (วิศรุต แสนคำ, 2564) ปัจจุบันชาวว้าบางส่วนจากกลุ่มนี้ได้กระจายกันไปอยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ ทางภาคเหนือ

ในขณะที่ชาวว้าอพยพรุ่นแรกอพยพเข้ามาในประเทศไทยจากเหตุผลทางการเมืองและความแตกต่างทางอุดมการณ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารมาก่อนและครอบครัวได้อพยพเข้ามาในภายหลัง ชาวว้ากลุ่มที่สองอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยหลังช่วง พ.ศ. 2542 ด้วยเหตุผลส่วนตัวและส่วนใหญ่อพยพแบบปัจเจกบุคคล

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการอพยพของชาวว้ากลุ่มที่สองมีสาเหตุหลักมาจากการบังคับอพยพมายังรัฐว้าทางใต้ (Southern Wa State) โดยสหพรรครัฐว้า (United Wa State Party) หรือรัฐบาลของชาวว้าที่ได้ให้เหตุผลว่าการอพยพว่าเพื่อเป็นลดการปลูกฝิ่น และเพราะพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศเมียนมาที่เป็นที่อยู่เดิมนั้นเป็นพื้นที่แห้งแล้งและไม่เหมาะแก่การปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น อย่างไรก็ตามการถูกบังคับย้ายถิ่นส่งผลให้ชาวว้าที่ถูกเคลื่อนย้ายมาต้องประสบกับความยากลำบากในการประกอบอาชีพในพื้นที่ใหม่ ทำให้ชาวว้าหลายคนตัดสินใจอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ทั้งในฐานะแรงงานหรือเข้ามาเพื่อการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือบางคนเข้ามาเพื่อต้องการหลีกหนีจากการถูกกดขี่จากรัฐบาลว้า

ชาวว้าที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยทั้งสองระลอกอาศัยอยู่หลายแห่ง โดยส่วนใหญ่จะกระจายกันอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย แต่ผู้ศึกษายังพบว่ามีชาวว้าจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานครและนครปฐมอีกด้วย จำนวนของชาวว้าในประเทศไทยนั้นยังไม่ได้มีการสำรวจอย่างเป็นทางการจึงไม่มีตัวเลขจำนวนที่ชัดเจนที่ได้รับการยอมรับ แต่มีรายงานจากโครงการ Joshua Project ของ Frontier Ventures ที่เป็นองค์กรศาสนา

ได้บันทึกไว้ว่ามีชาวว้าอยู่ในประเทศไทยประมาณ 5,000 คน และผู้ศึกษาพบว่าในตัวเมืองอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายนั้นมีชาวว้าอย่างน้อย 100 คน กระจัดกระจายกันอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ และมาเข้าโบสถ์ในทุก ๆ วันอาทิตย์ต้นเดือนเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาและพบปะชาวว้าด้วยกันเอง โดยสรุปแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ว้ามีการเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินกว่า 60 ปีแล้ว และส่วนใหญ่จะกระจายกันอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย โดยพบหมู่บ้านชาวว้าในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

กล่าวว่า โดยความสัมพันธ์นี้ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายของวัตถุดิบ เครื่องมือ ทุน ผู้คน และยาเสพติด ดังนั้นเขาจึงเสนอว่าหากจีนและสหรัฐอเมริการ่วมมือกันเพื่อกดดันรัฐว้าในเรื่องยาเสพติดแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องทำให้การเมืองในภูมิภาคเอเชียมีความมั่นคงและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค

ดังนั้นเขาจึงมองว่าการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในพื้นที่รัฐว้านั้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกซึ่งจะส่งผลต่อผู้คนในพื้นที่ของชาวว้า.