Health & Beauty

สสส.และเครือข่ายลดการบริโภคเค็มร่วม ขับเคลื่อนป้องกันลดเสี่ยงโรคNCDs



กรุงเทพฯ-ภาคีเครือข่ายฯ ร่วมกันแถลงข่าว “ลดโซเดียม ลดเสี่ยง NCDs” โดยเน้นปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่เสี่ยงต่อโรค NCDs และการปรับเปลี่ยนที่เหมาะสมในบริบทประเทศไทย โดยสสส. เน้นในเรื่องหลัก 6 ด้านเพื่อการขับเคลื่อนพฤติกรรมของประชาชน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันและลดเสี่ยงโรค NCDs

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)เปิดเผยว่าจากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเค็มในการรณรงค์ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรมและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยโรคไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases: NCDs) เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตกว่า 77% ของการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย โดยมีปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม การขาดกิจกรรมทางกาย และมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวโน้มการเกิดโรค NCDs มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของประชากร

ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าวว่า สสส. ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันและลดเสี่ยงโรค NCDs ประกอบด้วย 6 ด้าน ประกอบไปด้วย  1) การรณรงค์ให้ความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม 2) ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ผ่านการสนับสนุนโครงการและกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง เช่น การจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง โดยเป็นเครื่องมือสื่อสารประเด็นสุขภาพ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า อาหาร หรืออุบัติเหตุโครงการรณรงค์ให้คนไทยเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน และขยายความร่วมมือกิจกรรมมวลชนทุกระดับ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกิจกรรมทางกาย 3) ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการรณรงค์ลดการบริโภคเกลือ น้ำตาล และไขมันทรานส์ พร้อมสนับสนุนการบริโภคผักผลไม้และอาหารปลอดภัย 4) สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ อาทิ การพัฒนาพื้นสุขภาวะในชุมชน การส่งเสริมการเดินและการปั่นจักรยาน และการลดมลพิษสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี 5) การควบคุมปัจจัยเสี่ยงผ่านนโยบายสาธารณะ สนับสนุนการออกกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบและสุรา เช่น การเพิ่มภาษี การจำกัดการโฆษณา และการกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการกำหนดมาตรฐานอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และ 6) ส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง สนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากิจกรรมและโครงการที่เหมาะสม เช่น การพัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพ การจัดตลาดเขียวในชุมชน และการพัฒนาโครงการเพื่อสุขภาพโดยชุมชนเป็นฐาน

นอกจากนี้ สสส. ยังให้ความสำคัญคือการลดการบริโภคโซเดียม (เกลือ) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต โดยร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็มและองค์กรพันธมิตรมาอย่างต่อเนื่อง ในการ รณรงค์และให้ความรู้ เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อสารมวลชนทุกแขนงและให้คำแนะนำในการอ่านฉลากโภชนาการเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมต่ำ สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมต่ำ เครื่องตรวจวัดความเค็ม (Salt Meter) และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคโซเดียมต่อสุขภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ (โรงเรียน ชุมชน โรงพยาบาล และองค์กรเอกชน) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารในการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ ผลักดันนโยบายสาธารณะ อาทิ การกำหนดปริมาณโซเดียมในอาหารแปรรูปและอาหารพร้อมบริโภค ผลักดันนโยบายภาษีโซเดียม เพื่อสร้างเสริมพฤติกรรมการลดปริมาณการบริโภคโซเดียมของประชากรให้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเท่ากับเกลือประมาณ 1 ช้อนชา) ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งจะช่วยลดอัตราโรคที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเค็ม และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว

ด้าน นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่าในปี พ.ศ. 2568 นี้  กรมควบคุมโรค มุ่งมั่นเดินหน้าผลักดันสนับสนุนให้ อสม. มีเครื่องตรวจวัดความเค็ม เป็นเครื่องมือสร้างความตระหนักและควบคุมปริมาณโซเดียมในการปรุงอาหารของครัวเรือนที่รับผิดชอบ กำหนดเพดานปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และผลักดันมาตรการทางการเงิน เช่น ภาษีโซเดียม โดยมุ่งเป้าให้ “ประชาชนคนไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลโรค NCDs ด้วยการลดการกินเค็ม ลดเกลือและโซเดียมเกินกำหนด”ภายใต้สโลแกน “กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี” โดยการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเป็น 1 ใน 9 เป้าหมายระดับโลก (9 Global target) โดยกำหนดค่าเฉลี่ยปริมาณการบริโภคโซเดียมในประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป ให้ลดลงร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2568 เพื่อลดการป่วย การตาย และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มโรคไม่ติดต่อ

นพ.กฤษฎา กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการจัดทำ “แนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด” เพื่อให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบ นำไปใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานมาตรการสำคัญ ประกอบด้วย การจัดทำข้อมูลเฝ้าระวังเพื่อสะท้อนสถานการณ์การบริโภคอาหารและแหล่งอาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูง, การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียม, การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีภายในและบริเวณโดยรอบโรงเรียน/โรงพยาบาล/สถานที่ทำงาน, การปรับสูตรลดปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร/อาหารท้องถิ่น/อาหารปรุงสุกที่จำหน่าย การให้ความรู้สร้างความตระหนักต่อสุขภาพจากการบริโภคเกลือและโซเดียมและการติดตามประเมินผล รวมถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับอำเภอ ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และชุมชนลดเค็ม และขยายผลการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

จากการสำรวจการบริโภคเกลือแกงในประเทศไทยพบว่า คนไทยได้รับโซเดียมจากการรับประทานอาหารมากถึง 4,351.69 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน สูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ถึง 2 เท่า ขณะที่คนไทยมากกว่า 22 ล้านคน ป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม (โรค NCDs) เช่นโรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ภายในปี พ.ศ.2568 ประเทศไทยควรจะต้องทำให้ประชาชนลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลง 30% โดยจะต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดเกลือและโซเดียม สร้างความรู้สร้างความตระหนักแก่ผู้บริโภค การปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และผลักดันให้เป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายประชาชนมีสุขภาพดี

ด้านรศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การลดเกลือ (ลดเค็ม)ในอาหารเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและผู้บริโภคที่กินเค็มอยู่เป็นเวลานาน ๆ มักขาดความตระหนักและเคยชินกับอาหารที่มีรสชาติเค็ม สาเหตุเนื่องมาจากการรับรสเค็มของลิ้นน้อยกว่าคนปกติ ดังนั้นเครื่องตรวจวัดความเค็ม จึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการปรับการรับรสและพฤติกรรมของผู้บริโภคและสามารถใช้ในการตรวจวัดปริมาณเกลือในอาหารประจําวัน การประยุกต์การใช้เครื่องวัดเกลือในชุมชนนั้น

จากงานวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ในวารสาร PLoS One ซึ่งเครือข่ายลดการบริโภคเค็มได้ทำการวิจัยร่วมกับทีมสาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ และภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานีและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3  ทำการศึกษาใน 6 ตำบลที่จังหวัดอุทัยธานี โดยให้เครื่องวัดความเค็มที่พัฒนาขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลแก่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงนำไปใช้ที่บ้าน เพื่อติดตามการบริโภคเกลือในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงร่วมกับการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนและปรับสิ่งแวดล้อมให้มีการเพิ่มอาหารเค็มน้อยไว้บริการในร้านอาหารในชุมชน โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่าการใช้เครื่องวัดความเค็มร่วมกับการปรับสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงอาหารโซเดียมต่ำในบ้านและร้านอาหาร  มีประโยชน์ในการลดความดันโลหิตและการบริโภคเกลือของประชาชนในชุมชน โดยการใช้เครื่องวัดความเค็มสามารถช่วยผู้บริโภคลดปริมาณเกลือในอาหารได้ทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยให้แต่ละคนสามารถปรับลิ้นให้คุ้นเคยรสชาติที่เปลี่ยนไปได้เมื่อเวลาผ่านไป ประกอบกับเพิ่มความตระหนักรู้ด้านสุขภาพ จะนําไปสู่ความชอบอาหารเค็มน้อย หรือเป็นนิสัยที่ “เค็มน้อยอร่อยได้” ซึ่งนําไปสู่การควบคุมการบริโภคเกลือและความดันโลหิตที่ดีขึ้นภายในชุมชนอย่างยั่งยืน

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการลดการติดเค็มในเด็กก็เป็นอีกมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากเด็กมักรับข้อมูลจากโฆษณาประชาสัมพันธ์ของสินค้าต่าง ๆ ข้อมูลในเด็กอายุ 10-19 ปี โดยมีการสำรวจในกรุงเทพมหานคร พบว่า มีภาวะความดันโลหิตสูงมากถึง 10% ซึ่งแน่นอนเด็กกลุ่มนี้ก็จะมีความดันโลหิตสูงต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่ในวัยผู้ใหญ่ เหตุส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคอาหารและขนมที่มีโซเดียมสูงมากขึ้น ดังนั้นการปรับลดความเค็มในอาหารพร้อมบริโภค อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยวในร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีโซเดียมสูงจึงมีความสำคัญ ดังนั้นการมีกฎหมายควบคุมการทำตลาดสำหรับเด็ก ควบคุมปริมาณโซเดียมสูงสุด และภาษีโซเดียมก็เป็นมาตรการชักจูงให้อุตสาหกรรมมีการปรับตัวลดโซเดียมลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่อันตราย หรือออกสูตรลดโซเดียมที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องเสียภาษี มาตรการทั้งหมดจะทำให้เกิดประโยชน์และประชาชนมีสุขภาพดีเป็นผลดีต่อประเทศ