In Bangkok
สวนหลวงล้อมกรอบวัดค่าฝุ่นจิ๋วไซต์งาน ไรย์หัวหมาก2/ยุบแผงค้าพัฒนาการ25
กรุงเทพฯ-สวนหลวงล้อมกรอบวัดค่าฝุ่นจิ๋วไซต์งานไรย์หัวหมาก 2 เล็งยุบแผงค้าพัฒนาการ 25 พ่วง 2 จุดที่เหลือในปี 68 ชมคัดแยกขยะอาคารชุดลุมพินีวิลล์อ่อนนุช 46 พลิกที่ว่างปั้นสวนศรีพัฒน์ภิรมย์ 2 ริมถนนศรีนครินทร์
(26 ธ.ค. 67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสวนหลวง ประกอบด้วย
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการไรย์ หัวหมาก 2 ดำเนินการโดยบริษัท ไวท์สยามดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซอยสงบสุข ถนนคู่ขนานทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 8 ชั้น จำนวน 2 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเปิดตลอดเวลาที่มีการก่อสร้าง ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ พร้อมจอแสดงผลด้านหน้าทางเข้าออกโครงการ ให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ปรับปรุงแนวรั้วโดยรอบให้มีความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร ซึ่งผู้ประกอบการได้จัดทำบ่อล้างล้อและฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ ติดธงคุณภาพอากาศด้านหน้าโครงการ ตามค่าฝุ่นที่ตรวจวัดได้ในแต่ละวัน นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทหม้อไอน้ำ (Boiler) 1 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 13 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน ซอยพัฒนาการ 25 ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 58 ราย ดังนี้ 1.ซอยพัฒนาการ 25 ผู้ค้า 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-22.00 น. 2.ซอยรามคำแหง 4 ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-21.00 น. 3.ซอยอ่อนนุช 17 แยก 16 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าซอยพัฒนาการ 34-36 ผู้ค้า 11 ราย ยกเลิกวันที่ 1 เมษายน 2567 ในปี 2568 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้าอีก 1 จุด คือซอยพัฒนาการ 25 ผู้ค้า 24 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำพื้นที่ทางเท้าหรือเกินแนวเส้นที่กำหนด ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ นอกจากนี้ เขตฯ มีแนวคิดในการยกเลิกจุดทำการค้าในส่วนที่เหลือทั้งหมด จากการสำรวจพบว่าผู้ค้าขายสินค้าได้น้อยลง เนื่องจากบริษัทที่ตั้งอยู่ในจุดดังกล่าวย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ผู้ค้าบางรายได้เลิกทำการค้า ส่วนผู้ค้าที่เหลือได้ย้ายเข้าไปทำการค้าในตลาดใกล้เคียง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ นิติบุคคลอาคารชุดลุมพินีวิลล์ ซอยอ่อนนุช 46 พื้นที่ 6 ไร่ 55 ตารางวา อาคารพักอาศัย ความสูง 8 ชั้น จำนวน 4 อาคาร ห้องพัก 677 ห้อง ผู้พักอาศัย 1,080 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2568 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ยังไม่มีการคัดแยกขยะเศษอาหาร 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขวดพลาสติกและกล่องกระดาษ เพื่อจำหน่ายนำรายได้เป็นสวัสดิการให้แก่แม่บ้าน 3.ขยะทั่วไป รวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะ เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย รวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะอันตราย เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 37,001 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 36,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางนิติบุคคลในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้พักอาศัยช่วยกันคัดแยกขยะก่อนรวบรวมนำมาทิ้งในจุดที่กำหนด โดยเฉพาะขยะเศษอาหารและขยะรีไซเคิล เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากการแบ่งกลุ่มอาคารชุดนิติบุคคล จะอยู่ในกลุ่มที่ 3 หากมีการคัดแยกขยะตามประเภท จะทำให้ปริมาณขยะในแต่ละวันมีจำนวนลดลง อาจจะไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่ ที่จะเริ่มใช้ประมาณเดือนมิถุนายน 2568
ติดตามการพัฒนาสวน 15 นาที สวนศรีพัฒน์ภิรมย์ 2 ถนนศรีนครินทร์ เป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากสวนศรีพัฒน์ภิรมย์ ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำสวน 15 นาที ตัดแต่งกิ่งไม้ จัดทำทางเดินวิ่ง ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับ รวมถึงอนุรักษ์ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ถนนอ่อนนุช พื้นที่ 400 ตารางเมตร 2.สวนภายในศูนย์การค้าเดอะไนน์ พระราม 9 พื้นที่ 94 ตารางเมตร 3.สวนหย่อมพัฒนาการ 25 หรือสวนพัฒนาการไลค์พาร์ค พื้นที่ 864 ตารางเมตร 4.สวนหย่อมถนนพระราม 9 ซอย 49 พื้นที่ 780 ตารางเมตร 5.สวนศรีพัฒน์ภิรมย์ แยกศรีนครินทร์-พัฒนาการ พื้นที่ 32 ตารางเมตร 6.สวนมิตรภาพภิรมย์ ซอยอ่อนนุช 46 พื้นที่ 7,308 ตารางเมตร อยู่ระหว่างปรับปรุงภูมิทัศน์ 7.สวนศรีพัฒน์ภิรมย์ 2 ถนนศรีนครินทร์ พื้นที่ 3,400 ตารางเมตร อยู่ระหว่างปรับปรุงภูมิทัศน์ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง
ในการนี้มี นายบัญชา สืบกระพัน ผู้อำนวยการเขตสวนหลวง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสวนหลวง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล