In Bangkok
ไม่เสร็จ!'ชัชชาติ'บี้งานก่อสร้างทางเดินริม คลองโอ่งอ่าง-บางลำพูจี้กฟน.ปิดจ๊อบ
กรุงเทพฯ เดินได้เดินดี ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตามงานก่อสร้างทางเดินริมคลองโอ่งอ่าง-บางลำพู พร้อมประสาน กฟน. เร่งปิดงานสายไฟลงดิน ถ.พระราม 3
(2 ม.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่คลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร พร้อมด้วยนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายนิพนธ์ ศรีเรือง ผู้อำนวยการกองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ เพื่อตรวจเส้นทางการปรับปรุงทางเดินริมคลอง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้ลงพื้นที่เริ่มจากซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ แลนด์มาร์กใหม่ สะพานดำรงสถิต ถนนเจริญกรุง ที่ตั้งอยู่บริเวณคลองโอ่งอ่าง และอีกประตูหนึ่งอยู่บริเวณแยกหมอมีซึ่งก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว เหลือตกแต่งรายละเอียดบางส่วน ซึ่งทั้ง 2 ประตู จะเปิดใช้งานได้ภายในเดือนนี้และเป็นสัญลักษณ์ของไชน่าทาวน์เยาวราช สำหรับคลองโอ่งอ่าง-บางลำพู กทม. ได้ก่อสร้างทางเดินใหม่เลียบคลองตลอดเส้นทาง จากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้าจนถึงป้อมพระสุเมรุ ผ่านถนนเจริญกรุง ถนนหลวง ถนนบำรุงเมือง จนถึงป้อมมหากาฬ สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เชื่อมต่อคลองแสนแสบ คลองมหานาค เพื่อให้เดินได้สะดวกตลอดเส้นทางเลียบคลอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยเมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนในชุมชนสามารถมาจัดกิจกรรมร่วมกันได้ เช่น ตลาดริมคลอง ร้านกาแฟชุมชน และในอนาคตบริเวณพิพิธบางลำพูอาจเป็นพื้นที่ตลาดน้ำ รวมถึงจะมีการปรับภูมิทัศน์ด้วยการปลูกต้นไม้ ไม้ดอกไม้ประดับริมคลอง และการทาสีอาคารริมคลอง ซึ่งหากดำเนินการเสร็จสิ้นจะมีทางเดินเท้าเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 จุด และคาดว่าภายในปี 2568 นี้ จะสามารถใช้เส้นทางเดินดังกล่าวจากคลองโอ่งอ่างถึงวัดศรีบุญเรือง เขตมีนบุรี ได้อีกด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระจายรายได้ และแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ
จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ถนนพระรามที่ 3 ที่มีประชาชนร้องเรียนเรื่องพื้นผิวการจราจรไม่เรียบร้อย เนื่องจากมีโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินโดยการไฟฟ้านครหลวง ต้องมีการเปิดพื้นผิวการจราจรอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาความขรุขระของถนนจากการเปิดฝาท่อบ่อพักท่อสายไฟฟ้าทั้ง 2 ฝั่ง โดยมีนายฐิติวุฒิ เงินคล้าย รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (ปฏิบัติการระบบส่ง) นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ร่วมลงพื้นที่ โดยในส่วนของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินถนนพระรามที่ 3 ทั้งเส้น ซึ่งผลการดำเนินการล่าสุดยังต้องมีการเปิดฝาท่อบ่อพักท่อสายไฟฟ้า ประมาณ 19 บ่อ จาก 81 บ่อ
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเป็นหูเป็นตาร่วมแจ้งจุดที่ยังดำเนินการไม่เรียบร้อยผ่านทาง Traffy Fondue โดย กฟน. จะประสานงานกับ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ซึ่งหากเป็นปัญหาเล็กน้อยจะดำเนินการแก้ไขได้ภายใน 1 วัน แต่หากต้องใช้เวลามากกว่านั้นจะมีการแจ้งให้ประชาชนที่ร้องเรียนได้รับทราบ นอกจากนี้ การไฟฟ้านครหลวงยังส่งเจ้าหน้าที่เพื่อสำรวจปัญหา วันละ 2 เวลา คือ 10.00 น. และ 14.00 น. และจะดำเนินการแก้ไขในช่วงเวลากลางคืน สำหรับถนนที่อยู่ระหว่างซ่อมแซมนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ได้แก่ ถนนพระรามที่ 3 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถนนพระรามที่ 4 ถนนสาทร ถนนรามคำแหง ซึ่งถนนที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วขณะนี้ ได้แก่ ถนนสุขุมวิทและถนนจรัญสนิทวงศ์บางส่วน
ในส่วนของรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ที่ กทม. ให้บริการนั้น ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด 100% โดยปรับปรุงรถโดยสารเป็นระบบประตู 2 ฝั่ง กล้องวงจรปิด CCTV จำนวน 5 ตัวภายในรถโดยสาร และบันไดชานต่ำ (Low floor) เพื่อรองรับการใช้ร่วมงานกับป้ายรถประจำทางปกติพร้อมด้วยการปรับปรุงป้ายรถประจำทางเดิมให้เป็นรูปแบบใหม่อีกประมาณ 200 ป้าย ภายในปี 2568 นี้
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับปีใหม่ที่ผ่านมามีบทเรียนที่ กทม. ต้องนำมาแก้ไข 2 เรื่อง คือ เรื่องของความปลอดภัยจากเหตุเพลิงไหม้ของโรงแรมขนาดเล็ก ด้วยการเพิ่มทางหนีไฟและการหลีกเลี่ยงวัสดุที่ติดไฟง่ายต่าง ๆ ซึ่งได้กำชับให้ทุกสำนักงานเขตเร่งสำรวจเพื่อแก้ไขดำเนินการในพื้นที่ของตน เรื่องที่สอง คือ เรื่องการจุดดอกไม้ไฟจนเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ โดยจะให้จุดดอกไม้ไฟได้ในพื้นที่ที่อนุญาตเท่านั้น สำหรับเรื่องอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ในกรุงเทพฯ พบว่ามีอัตราที่ลดลง อย่างไรก็ตาม กทม. มีหน้าที่ปรับปรุงเรื่องของสัญญาณป้ายจราจร สัญญาณไฟจราจร สะพานลอย สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ รวมถึงการจำกัดอัตราความเร็วเพื่อลดความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิต