In Bangkok
ยุบแผงค้าหน้าตลาดพรานนกเป็นทางเท้า ธนบุรีเลิกผู้ค้าแยกบ้านแขกคืนทางเท้า
กรุงเทพฯ-บางกอกน้อยยุบแผงค้าหน้าตลาดพรานนกถึงหน้าตลาดบางกอกน้อย พร้อมปรับปรุงทางเท้าถนนอิสรภาพ วาดอัตลักษณ์บนฝาท่อระบายน้ำ 3 เขตในเส้นทาง ธนบุรียกเลิกผู้ค้าสี่แยกบ้านแขกและหน้าตลาดสำเหร่ คืนทางเท้าให้ประชาชนสัญจร
(4 ม.ค. 68) เวลา 08.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้าและติดตามการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่เขตบางกอกน้อย บริเวณหน้าตลาดพรานนก หน้าตลาดบางกอกน้อยฝั่งซ้าย หน้าตลาดบางกอกน้อยฝั่งขวา ถนนอิสรภาพ และซอยแสงศึกษา (อิสรภาพ 44) ติดตามการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่เขตธนบุรี บริเวณสี่แยกบ้านแขก ถนนอิสรภาพ และหน้าตลาดสำเหร่ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า เช้าวันนี้ได้ลงพื้นที่ติดตามจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้าและยกเลิกพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่เขตบางกอกน้อย บริเวณถนนอิสรภาพ และซอยแสงศึกษา ซึ่งหน้าตลาดพรานนก มีผู้ค้า 181 ราย หน้าตลาดบางกอกน้อย มีผู้ค้า 30 ราย ผู้ค้าส่วนใหญ่จะตั้งวางแผงค้าจำหน่ายอาหารสด อาหารทะเล รวมถึงผักสดและผลไม้ตามฤดูกาล พื้นที่ทางเท้าจะเปียกน้ำอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดความสกปรกเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ไม่ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล ซึ่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 เขตฯ ได้เชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าใหม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67
ในขณะเดียวกันกรุงเทพมหานคร มีโครงการปรับปรุงทางเท้าถนนอิสรภาพ ตั้งแต่ถนนประชาธิปกจนถึงถนนสุทธาวาส ครอบคลุมพื้นที่เขตธนบุรี เขตบางกอกใหญ่ และเขตบางกอกน้อย ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2567 สิ้นสุดวันที่ 14 มกราคม 2568 ระยะเวลา 210 วัน ซึ่งเขตบางกอกน้อยมีพื้นที่ทำการค้าที่อยู่ในโครงการปรับปรุงทางเท้า 3 จุด ได้แก่ หน้าตลาดพรานนก หน้าตลาดบางกอกน้อยฝั่งซ้าย หน้าตลาดบางกอกน้อยฝั่งขวา จึงมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการปรับปรุงทางเท้า โดยเขตฯ ได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าดังกล่าวทั้ง 3 จุด เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ผู้ค้าด้านนอกที่อยู่ริมถนนได้ย้ายไปทำการค้าในตลาดพรานนกและตลาดบางกอกน้อย ซึ่งตั้งอยู่ติดกันด้านในยังมีแผงค้าที่ยังว่างอยู่ สามารถรองรับผู้ค้าได้จำนวนหนึ่ง ส่วนผู้ค้าที่เช่าพื้นที่ด้านหน้าอาคาร ยังคงทำการค้าได้ แต่ห้ามตั้งวางสินค้ารุกล้ำพื้นที่ทางเท้า ส่วนซอยแสงศึกษา (อิสรภาพ 44) หน้าโรงพยาบาลธนบุรี มีผู้ค้า 13 ราย ในจุดนี้พื้นที่ทางเท้าจะมีขนาดไม่เท่ากัน เนื่องจากบริเวณปากซอยแสงศึกษาจะมีพื้นที่แคบกว่าด้านใน ซึ่งเขตฯ จะพิจารณาจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของเขตธนบุรี มีพื้นที่ทำการค้าที่อยู่ในโครงการปรับปรุงทางเท้าถนนอิสรภาพ 1 จุด คือบริเวณสี่แยกบ้านแขก มีผู้ค้า 43 ราย จึงมีความจำเป็นต้องยกเลิกพื้นที่ทำการค้าดังกล่าวเช่นกัน ส่วนตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง เดิมมีผู้ค้า 74 ราย ปัจจุบันเหลือผู้ค้า 16 ราย โดยมีผู้ค้า 59 ราย ได้รับเงินค่าทดแทนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งโครงการก่อสร้างดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง เขตฯ จึงยกเลิกพื้นที่ทำการค้าจุดดังกล่าวในคราวเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้พื้นที่ทางเท้าในการสัญจรได้สะดวกขึ้น
“พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้สำนักการโยธา กำชับผู้รับจ้างโครงการปรับปรุงทางเท้าถนนอิสรภาพ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยแก่ประชาชนที่ใช้ทางเท้าในการสัญจร ติดตั้งป้ายแจ้งเตือน กั้นแนวรั้วในจุดที่ดำเนินการปรับปรุงทางเท้า และฝาท่อระบายน้ำบนทางเท้า เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ในส่วนของฝาท่อระบายน้ำบนทางเท้า สำนักการโยธาได้ออกแบบลวดลายบนฝาท่อ โดยใช้ชื่อถนนอิสรภาพ รวมถึงนำอัตลักษณ์ในพื้นที่เขต มาทำลวดลายบนฝาท่อ ซึ่งฝาท่อระบายน้ำบนทางเท้าถนนอิสรภาพทั้ง 3 เขต จะมีลักษณะของลวดลายแตกต่างกัน นอกจากนี้ได้เร่งรัดผู้รับจ้างให้ทำงานในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อคืนทางเท้าให้ประชาชนใช้ในการเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย
ปัจจุบันเขตบางกอกน้อย มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 376 ราย ได้แก่ 1.ท่าน้ำพรานนกฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช ถนนวังหลัง (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 123 ราย 2.ปากตรอกวังหลัง ถนนอรุณอมรินทร์ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 25 ราย 3.ซอยแสงศึกษา ฝั่งนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ (ฝั่งขาเข้า) ผู้ค้า 38 ราย 4.ตลาดบางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 172 ราย และ 5.ไปรษณีย์บางขุนนนท์ ถนนบางขุนนนท์ (ฝั่งขาออก) ผู้ค้า 18 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าหน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ ผู้ค้า 181 ราย และหน้าตลาดบางกอกน้อย ถนนอิสรภาพ ผู้ค้า 30 ราย ยกเลิกวันที่ 25 พ.ย.67 โดยผู้ค้าบางส่วนได้ย้ายเข้าไปทำการค้าในตลาดพรานนกและตลาดบางกอกน้อย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 13 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 126 ราย ได้แก่ 1.ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ผู้ค้า 2 ราย 2.ถนนอิสรภาพหน้าร้าน 7-11 ผู้ค้า 4 ราย 3.หน้าที่ทำการไปรษณีย์บางกอกน้อย ผู้ค้า 2 ราย 4.เวิ้งปิ่นเกล้า ผู้ค้า 7 ราย 5.หน้าวัดเจ้าอามและฝั่งตรงข้ามวัด ผู้ค้า 12 ราย 6.หน้าไปรษณีย์บางขุนนนท์ ผู้ค้า 8 ราย 7.ปากซอยบางขุนนนท์ 2 ผู้ค้า 3 ราย 8.ปากซอยสมเด็จพระปิ่นเกล้า 3-5 ผู้ค้า 17 ราย 9.หน้าห้างแม็คโคร ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 ผู้ค้า 19 ราย 10.ถนนบางขุนนนท์ ทั้ง 2 ฝั่ง ผู้ค้า 20 ราย 11.ปากซอยแสงศึกษา (อิสรภาพ 44) หน้าโรงพยาบาลธนบุรี ผู้ค้า 13 ราย 12.หน้าโรงเรียนชิโนรส ผู้ค้า 7 ราย และ 13.ตรงข้ามห้างพาต้า ผู้ค้า 12 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1.ปากซอยโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 2.ถนนอรุณอมรินทร์ 3.ปากซอยอรุณอมรินทร์ 20 4.หน้าห้างโลตัสบางขุนนนท์ 5.ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 และ 6.หน้าธนาคารกรุงเทพ สามแยกไฟฉาย
ในส่วนของเขตธนบุรี มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 98 ราย ได้แก่ 1.ตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ฝั่งขาออก ผู้ค้า 26 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-23.00 น. รวมผู้ค้า 66 ราย 2.ตลาดเดินเล่น ถนนรัชดาภิเษก (ตลาดไทยช่วยไทยเดิม) ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.บริเวณตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า ผู้ค้า 60 ราย ฝั่งขาออก ผู้ค้า 14 ราย รวมผู้ค้า 74 ราย โดยมีผู้ค้า 59 ราย ได้รับเงินค่าทดแทนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 2.บริเวณสี่แยกบ้านแขก ผู้ค้า 43 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2568 ปัจจุบันเขตธนบุรี ไม่มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันแล้ว ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 ผู้ค้า 15 ราย 2.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 ผู้ค้า 13 ราย ยกเลิกวันที่ 30 กันยายน 2567 ในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ซอยอิสรภาพ 13-15 ผู้ค้า 33 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2568 และยุบรวมพื้นที่ทำการค้าหน้าคอนโด Whizdom ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 13 ราย ยุบรวมวันที่ 7 มกราคม 2568
ในการนี้มี นางกฤติมา นิ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย ว่าที่ร้อยตรีเดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา เขตบางกอกน้อย เขตธนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล