Think In Truth

สำรวจเมกะโปรเจกต์รอบเมืองกรุงยกให้ 'เมกาบางนา'เป็นหนึ่ง โดย:ฅนข่าว2499



ในห้วงที่ผ่านมาโดยรอบนอกกรุงเทพมหานคร(กทม.)ได้ มีศูนย์การค้าระดับบิ๊กๆ อยู่เต็มไปหมดทั่วทุกมุมเมือง อาทิย่านรังสิตจะมีฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต / ย่านรามอินทราจะมีแฟชั่นไอส์แลนด์/ ย่านบางใหญ่จะมีเซ็นทรัลเวสต์เกตหรือย่านบางนาจะมีศูนย์การค้าเมกาบางนาเป็นต้น

อย่างไรก็ตามนอกจากศูนย์การค้าระดับบิ๊กๆดังกล่าวนี้แล้ว ทาง “เมกาบางนา”ยังไม่ได้หยุดเพียงแค่การเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่เช่นเดียวกับศูนย์การค้าในมุมเมืองอื่นเพียงเท่านั้น หากบังขยายตัวเป็น“เมกาซิตี้”ซึ่งเป็นเมืองเมืองหนึ่ง ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ทั้งสวนสาธารณะ สถานบันเทิง โรงเรียนนานาชาติ ที่พักอาศัยและออฟฟิศ แบบครบจบในที่เดียวว่ากันว่าหากสร้างเสร็จทั้งโครงการ ก็จะมีมูลค่าถึง 70,000 ล้านบาท

ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ตรงหัวมุมถนนกาญจนาภิเษกตัดกับถนนบางนา-ตราด ด้านข้าง โรงเรียนราชวินิตบางแก้วจะมีที่ดินเปล่าขนาดประมาณ 400 ไร่ และต่อใสที่ดินผืนดังกล่าวได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นอาณาจักรศูนย์การค้าแนวราบ นั่นก็คือ เมกาบางนาและอิเกีย

 

ทั้งนี้โดยผู้ปลุกปั้นศูนย์การค้าเมกาบางนาและอิเกีย ก็คือ บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่

1.บมจ.สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ หรือ SF เป็นบริษัทพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าเมกาบางนาโดยถือหุ้นในสัดส่วน 49%(SF ถูกควบรวมไปอยู่ภายใต้ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา เมื่อปี 2564)

2.บริษัท อิคาโน่ รีเทล เอเชีย จำกัด ผู้ถือครองลิขสิทธิ์ในการจำหน่ายสินค้า IKEA ในประเทศไทยโดยถือหุ้นในสัดส่วน 49%

3.บริษัท เอส.พี.เอสโกลเบิลเทรด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ให้กับ IKEA โดยถือหุ้นในสัดส่วน 2%

 

บรรยายภาพ : ห้างอิเกีย ได้เปิดให้บริการก่อนเมื่อปี 2554 ตามด้วยตัวศูนย์การค้าเมกาบางนา เปิดให้บริการปี 2555และในห้วงนั้นนับได้ว่าเป็นศูนย์การค้าแนวราบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

กล่าวว่า หลังจากที่ ศูนย์การค้าเมกาบางนาและอิเกียได้เปิดตัวเพียงไม่กี่ปี ก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีลูกค้าเข้ามาช็อปปิงมากถึงปีละหลายสิบล้านคนเพราะตัวศูนย์การค้า ได้สร้างออกไปทางชานเมือง บนถนนบางนา-ตราดซึ่งเป็นทำเลที่สามารถรองรับกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนัก ที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง จากการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ในแถบจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดชลบุรีได้พอดีโดยผู้เช่ารายใหญ่ของเมกาบางนาและอิเกียในตอนนั้นเป็นห้างสรรพสินค้าที่สำคัญอย่างเช่น Robinson, Big C, HomePro, Mega Cineplex และ TOPS เป็นต้น

ในเวลาต่อมา “เมกาบางนา” ได้ขยายศูนย์การค้าโซนใหม่ออกไปเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มจำนวนร้านค้าให้มากขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่ขยายโซน MEGA Foodwalkในปี 2560โดยเป็นโซนเอาต์ดอร์ขนาด 4 ชั้น ที่รวบรวมร้านอาหารและคาเฟที่หลากหลายกว่า 165 ร้านค้า บนพื้นที่กว่า 40,000 ตารางเมตรอีกทั้งภายในโซนชั้นล่าง ยังเป็นโซนเอาต์ดอร์สำหรับแฮงเอาต์ มีร้านนั่งชิลตอนดึก ๆ หลายร้านคล้าย ๆ กับ Groove แหล่งนั่งชิลๆและแฮงเอาต์ยามดึกในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์อีกด้วย

นอกจากนี้แล้วยังเปิดโซน MEGA Smart kidsในปี 2562เป็นโซนที่ทำขึ้นมาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ โดยมีศูนย์การเรียนรู้ครบวงจรสำหรับเด็กเช่น โรงเรียนกวดวิชาต่าง ๆ และสวนสนุก MEGA Harborlandซึ่งเป็นสนามเด็กเล่นในร่ม ที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก บนพื้นที่รวมกว่า 8,000 ตร.ม.

การเปิดโซน MEGA Parkขึ้นในปีเดียวกันซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาด 7 ไร่ ให้คนที่มาช็อปปิง หรือคนที่อยู่ในละแวกนั้นมาพักผ่อนหย่อนใจ พร้อมกับพาสัตว์เลี้ยงมาเดินเล่นได้

การรีแบรนด์(การปรับภาพลักษณ์องค์กรและกลยุทธ์ทางด้านการตลาด)จากห้างโรบินสัน เป็นห้างเซ็นทรัลในปี 2563และขยายห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จากพื้นที่ห้าง 14,000 ตารางเมตร เป็น 26,000 ตารางเมตรในปี 2566

กล่าวได้ว่า หลังจากที่เมกาบางนาได้ขยายโซนใหม่ ๆ แล้ว ทำให้ศูนย์การค้ามีคนมาใช้บริการมากกว่า 50 ล้านคนต่อปี ซึ่งจากข้อมูลพบว่าทุกครั้งที่เมกาบางนาได้ขยายศูนย์การค้าหรือเปิดโซนใหม่ ๆ ก็จะมีร้านค้าแบรนด์ดังต่างมาจับจองพื้นที่ในโซนต่าง ๆ ของเมกาบางนาจนทำให้ศูนย์การค้าเมกาบางนา มีอัตราการเช่าพื้นที่เต็ม 100% ตลอด

ทั้งนี้แล้วจากข้อมูลในปี 2567 ระบุว่าทั้งตัวศูนย์การค้ามีพื้นที่รวมกว่า 670,000 ตารางเมตรมีพื้นที่เช่ากว่า 180,000 ตารางเมตร มีร้านค้าที่มาเช่าพื้นที่มากกว่า 900 ร้านค้าด้วยจำนวนร้านเช่าขนาดนี้ ทำให้เมกาบางนาเป็นศูนย์การค้าที่มีร้านค้ามาเช่าพื้นที่ มากกว่าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เสียอีก

นอกจากตัวศูนย์การค้าเมกาบางนาแล้วทาง SF ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ยังมีที่ดินว่างรอบ ๆ เมกาบางนาเพื่อพัฒนาเป็นโครงการต่าง ๆ มากถึง 150 ไร่โดยเปิดโอกาสให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าอื่น ๆ ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการ ซื้อ เช่า หรือร่วมทุน (Joint Venture) เพื่อก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่นั่นเองซึ่งโครงการต่าง ๆ ก็ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคอนโดมิเนียมหรือออฟฟิศเท่านั้นแต่อาจจะเป็นโครงการอื่น ๆ เช่น สถานศึกษา สถานบันเทิง หรือ Wellness Center เพื่อทำให้โครงการ “เมกาซิตี้”  มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น

 

บรรยายภาพ : ปัจจุบันโครงการเมกาซิตี้ ยังคงมีที่ดินว่าง เพื่อรอพัฒนาเป็นโครงการต่าง ๆ อีกกว่า 30 แปลงและคาดการณ์ว่าถ้าเมืองใหม่ “เมกาซิตี้” เสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านบาทและจะทำให้มีคนเข้ามาใช้บริการมากถึง 90 ล้านคนต่อปี

ตัวอย่างโครงการที่ได้เปิดไปแล้ว ก็อย่างเช่นโรงเรียนนานาชาติ D-PREP International Schoolซึ่งถือเป็นโรงเรียนนานาชาติในศูนย์การค้า แห่งแรกของประเทศไทยโดยตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับโซน MEGA Smart Kids ได้เริ่มเปิดสอนตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งชั้นเรียน ก็จะมีตั้งแต่ระดับก่อนอนุบาลหรือ Nursery ถึงเกรด 12โดยโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้ ได้นำหลักสูตรExpeditionary Learning System ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนที่เน้นให้นักเรียนหาความรู้เชิงลึก และทดลองทำด้วยตัวเอง มาใช้ในการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในอาเซียน

อีกทั้งยังมีTOPGOLFซึ่งเป็นสนามกอล์ฟในร่ม ที่เป็นแหล่งรวมความบันเทิงระดับโลก บนพื้นที่กว่า 29 ไร่โดยสนามกอล์ฟในร่มของ TOPGOLF ก็จะเป็นอาคารสูง 3 ชั้น มีเบย์สำหรับตีกอล์ฟกว่า 102 เบย์ซึ่งในแต่ละเบย์ ก็จะมีโต๊ะนั่งและโซฟาด้านหลังสำหรับพักผ่อน หรือสั่งอาหารทานเล่นได้ และนอกจากจะเป็นสถานที่ไว้สำหรับตีกอล์ฟและสถานที่ผ่อนคลายในร่มแล้วยังเป็นสถานที่ไว้สำหรับกิน ดื่ม และสังสรรค์ได้ครบวงจรคือมีสปอร์ตบาร์ ที่เป็นบาร์ไว้สำหรับนั่งดื่ม เพื่อดูกีฬาต่าง ๆ เช่น ฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล หรือรักบี้ไปจนถึงห้องจัดเลี้ยง ที่ไว้สำหรับจัดงานปาร์ตี หรืออิเวนต์ได้ด้วย

ปัจจุบัน TOPGOLF เมกาซิตี้ เป็นสาขาแรก และสาขาเดียวในอาเซียนที่สามารถใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกาย กิน ดื่ม จัดอิเวนต์ หรือสังสรรค์ได้ ครบจบในที่เดียว

นอกจากจะมีทั้งโรงเรียนนานาชาติและแหล่งรวมความบันเทิงแล้วยังมีโครงการคอนโดมิเนียม อย่างโครงการA Space MEGA 1-2และ NOWW MEGAโดยผู้ที่เริ่มพัฒนาคอนโดมิเนียมทั้ง 3 คือ บมจ.อารียา พรอพเพอร์ตี้ ผู้พัฒนาคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์หลัก ๆ ชื่อ Areeya

สำหรับโครงการเมกาซิตี้นับว่าเป็นจิกซอว์อีกตัวหนึ่งบนถนนบางนาตราด ที่กำลังจะมีอีกหลาย ๆ โครงการระดับหมื่นล้านบาท เกิดขึ้นบนถนนสายนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Bangkok Mall ของเดอะมอลล์ กรุ๊ป มูลค่าโครงการกว่า 50,000 ล้านบาท /โครงการ The Forestiasของ MQDC มูลค่าโครงการกว่า 125,000 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้ต้องจับตาและติดตามกันต่อไปว่าโครงการระดับหมื่นล้านบาทเหล่านี้จะพลิกโฉมการค้าย่านถนนบางนา-ตราดได้บูมสนั่นตามที่มุ่งหวังได้มากน้องแค่ไหน.