In Bangkok

เผยอากาศปิด-จุดความร้อนรอบกรุงฯเหตุ PM2.5พุ่งร่วมฝนหลวงโปรยน้ำแข็งแห้ง



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เผย อากาศปิด-จุดความร้อนรอบกรุงฯ เหตุ PM2.5 พุ่ง  จับมือกรมฝนหลวงโปรยน้ำแข็งแห้งระบายฝุ่น คุมเข้มทุกมาตรการ คาดปลายสัปดาห์อากาศดีขึ้น  

(8 ม.ค. 68) ณ หน้าห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง : นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนเข้าประชุมสภากรุงเทพมหานครว่า สถานการณ์ฝุ่นในวันนี้ของกรุงเทพมหานคร พบว่าค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 60.9 มคก./ลบ.ม. โดยเฉพาะเขตหนองแขม บริเวณสามแยกข้างป้อมตำรวจ ถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง มีค่าเท่ากับ 81.7 มคก./ลบ.ม. ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (โดยที่ค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 75.1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป (มคก./ลบ.ม.) ด้วยสภาพการหมุนเวียนของอากาศในช่วงนี้ยังปิด บวกกับช่วงหลังปีใหม่ในพื้นที่โดยรอบของกรุงเทพมหานคร และประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มมีจุดความร้อน (hotspot) เพิ่มขึ้นจากการเผาในที่โล่ง จึงทำให้ปริมาณฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าวันที่ 13 มกราคม 2568 ทิศทางอากาศจะเริ่มเปิดขึ้น ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นมีแนวโน้มเบาบางลง 

ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครร่วมกับ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติภารกิจพิชิตฝุ่น PM2.5 ไปแล้วในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเทคนิคของกรมฝนหลวงไม่ใช่การก่อฝนอย่างที่ประชาชนจำนวนมากเข้าใจ แต่เป็นเทคนิคการเจาะรูชั้นบรรยากาศเพื่อระบายฝุ่นที่ถูกกักเก็บบนผิวดิน รวมทั้งยังคงคุมเข้มมาตรการลดฝุ่นในสถานประกอบการและแพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง การมอนิเตอร์ Hotspot หรือจุดความร้อน ที่อาจเป็นการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดฝุ่น หากพบก็จะส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วลงไปตรวจจุดเกิดเหตุ การขอความร่วมมือไม่จุดธูปจากวัด ศาสนสถาน และการประกอบพิธีทางศาสนาในวันสำคัญต่างๆ การฉีดล้างถนนร่วมกับสำนักงานเขตทุกเขต ส่วนการลดการเผาในภาคการเกษตร กรุงเทพมหานครซื้อเครื่องอัดฟางให้เกษตรกร เขตมีนบุรี หนองจอก ใช้ฟรีเพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกรและลดการเผา 

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น โดยมีห้องต้นแบบแล้ว โดยปีนี้ได้รับงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำนักการศึกษากำลังเร่งทำทั้ง 1,743 ห้องโดยเร็วที่สุด การจัดหน่วยบริการตรวจสภาพรถยนต์เคลื่อนที่เพื่อลดมลพิษ PM2.5 ให้บริการตรวจวัดปริมาณควันดำ การตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำแบบบูรณาการร่วม 4 หน่วยงาน (กทม. กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ กองบังคับการตำรวจจราจร) การจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรวจสอบในการปฏิบัติงาน ป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศ ดำเนินงานให้เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด ล้างทำความสะอาดถนนทางเท้าและฉีดพ่นละอองน้ำ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นความพยายามที่จะช่วยลดฝุ่นให้กับชาวกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตาไม่เผาในที่สาธารณะ หมั่นตรวจเช็คสภาพรถยนต์ เนื่องจากตอนนี้มีรถยนต์เข้าระบบ Green list เปลี่ยนน้ำมันเครื่องเพียง 160,000 คัน จากเป้าหมาย 500,000 คัน ส่วนรถบรรทุกเข้าร่วม Green list เพิ่มมากขึ้น ทำให้สภาพโดยรวมของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคขนส่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ก็ยังคงต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้อยู่ในเกณฑ์ทุกคัน ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุก และรถในระบบขนส่งมวลชน นอกจากนี้ การลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว มาใช้ระบบขนส่งมวลชน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดฝุ่นได้ 

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมในการปฏิบัติตัวในช่วงนี้ว่า ประชาชนทั่วไปใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงหรือสงสัยว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพ สามารถเข้ารับบริการที่คลินิกมลพิษทางอากาศ เพื่อเข้ารับการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในร่างกาย ตรวจวัดการทำงานของปอด ตรวจสุขภาพทั่วไป ตลอดจนการขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ และคำแนะนำวิธีป้องกันตัวจากมลพิษทางอากาศ สามารถรับคำปรึกษาฟรี ได้ที่คลินิกมลพิษทางอากาศ ที่เปิดให้บริการทั้งหมด 8 แห่ง ดังนี้ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร

 พร้อมกันนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ผ่านทาง
     - แอปพลิเคชัน AirBKK
     - www.airbkk.com
     - www.pr-bangkok.com
     - FB: สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
     - FB: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม
     - FB: กรุงเทพมหานคร
  
และสามารถทำแบบทดสอบด้วยตนเองในการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพว่ามีความเสี่ยงจากการผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 มากน้อยแค่ไหนได้ที่ https://greener.bangkok.go.th/pm2-5/air-pollution-clinic/รวมทั้งการรับมือฝุ่นแบบเรียลไทม์ผ่าน LINE Alert ได้ที่  https://greener.bangkok.go.th/pm2-5/line-alert/