In Bangkok

ผู้ว่าฯชัชชาติชี้3ปัจจัยเกิดฝุ่นPM2.5กทม. คาด12ม.ค.นี้ค่าฝุ่นมีแนวโน้มลดลง



กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชี้ 3 ปัจจัยเกิดฝุ่น PM2.5 ควันดำรถยนต์ การเผาในที่โล่งแจ้ง สภาพอากาศปิด เปรียบเหมือนฝาชีครอบฝุ่น ต้นเหตุค่าฝุ่นอยู่ระดับสีส้ม คาดการณ์ 12 ม.ค.68 ค่าฝุ่นมีแนวโน้มลดลง

(9 ม.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร แถลงมาตรการรับมือและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยคือ รถยนต์ การเผาในที่โล่ง และสภาพอากาศที่ปิดทำให้เหมือนเป็นฝาชีครอบไม่สามารถระบายฝุ่นได้ ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นในวันนี้อยู่ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพทุกพื้นที่ และระดับสีแดง มีผลต่อสุขภาพในพื้นที่ 3 เขต คือ เขตหนองแขม (94.2 มคก./ลบ.ม.) เขตบางบอน (76.8 มคก./ลบ.ม.) และเขตธนบุรี (75.5 มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวานนี้ที่แดงเพียง 1 เขต คาดว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยดังกล่าวพร้อมกัน โดยข้อมูลจากกรมอุตุนิยามวิทยาแสดงให้เห็นว่า วันที่ 6-9 ม.ค. 68 มีอัตราการระบายอากาศต่ำ แต่วันที่ 10-11 ม.ค. 68 ก็จะดีขึ้น แต่จะกลับลงมาต่ำอีกในวันที่ 12 ม.ค. 68

• การเผาในพื้นที่รอบ กทม. เพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ยากควบคุม พร้อมมอนิเตอร์ Hot Spot ใน กทม. แก้ไขที่ต้นตอการเกษตร

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ Hot spot (จุดความร้อน) ซึ่งเกิดจากการเผา โดยขณะนี้มีหลายจุดเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย ทั้งในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน และยังเพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันจากปีที่แล้ว ทั้งยังมีลมจากทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดนำพาฝุ่นเข้ามาในกรุงเทพมหานคร ทำให้ค่าฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น ส่วน Hot spot ใน กทม. ช่วงเดือนที่ผ่านมาแทบไม่พบ

สำหรับกรณีที่วานนี้พบว่ามีการเผา ปล่อยมลพิษในพื้นที่เขตหนองแขมนั้น ได้ส่งเจ้าหน้าที่เร่งเข้าตรวจสอบแล้ว และหากพบ Hot spot และการเผาในจุดใดของ กทม. ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว ส่วนการเผาในการทำเกษตร ที่นิยมทำกันเพราะเป็นวิธีที่ถูกที่สุดในการกำจัดซากพืช  กทม. จึงเตรียมเครื่องอัดฟางให้เกษตรกรในกรุงเทพฯ ใช้ฟรี เช่นที่ หนองจอก มีนบุรี ขณะที่การเผาในต่างจังหวัดต้องประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายการเร่งแก้ปัญหาต่อไป

• เดินหน้าต่อเนื่องมาตรการจัดการฝุ่นทุกมิติ พร้อมผสานกรมฝนหลวง เพิ่มมิติเหนือภาคพื้น เร่งระบาย PM2.5

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหา ด้านการกำจัดต้นตอฝุ่น PM2.5 กทม. มีโครงการ “รถคันนี้ลดฝุ่น” โดยการรณรงค์ให้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรอง ซึ่งมีรถเข้าร่วมแล้วประมาณ 160,000 คัน จากเป้า 500,000 คัน การขึ้นทะเบียน “บัญชีสีเขียว” (Green list) สำหรับรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปตามมาตรการเขตมลพิษต่ำ (Low Emission Zone) มีรถลงทะเบียนแล้วกว่า 12,000 คัน จากเป้า 10,000 คัน การป้องกันการเผาภาคเกษตรโดยเตรียมเครื่องอัดฟางให้เกษตรกร กทม. ใช้ฟรี การจัดหน่วยบริการตรวจสภาพรถยนต์เคลื่อนที่ ให้บริการตรวจวัดปริมาณควันดำ การตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำ การควบคุมสถานประกอบการและแพลนท์ปูน ล้างทำความสะอาดถนนทางเท้าและฉีดพ่นละอองน้ำ 

ด้านการติดตามเฝ้าระวัง เช่น โครงการนักสืบฝุ่น Risk Map ระบบการส่งการแจ้งเตือน เซ็นเซอร์ตรวจจับกว่า 1,000 จุด หรือการตั้ง War room ด้านการป้องกัน อาทิ โครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น โดยมีห้องต้นแบบแล้ว ปีนี้ได้รับกำลังเร่งทำทั้ง 1,743 ห้องเรียน พร้อมธงคุณภาพอากาศ และติดเครื่องกรองอากาศให้ศูนย์เด็กเล็ก โครงการต้นไม้ล้านต้นเดินหน้าไปถึง 2 ล้านต้น นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กรมฝนหลวง ปฏิบัติภารกิจบินพิชิตฝุ่น PM2.5 ในเขตน่านฟ้ากรุงเทพมหานคร เพื่อระบายฝุ่นที่ถูกกักเก็บในบรรยากาศภาคพื้น

• ค่าฝุ่นยังไม่ถึงขั้นวิกฤต พร้อมออกประกาศเมื่อถึงเวลา ผนึกภาคี WFH 220 แห่ง พร้อมมาตรการจำกัดวงพื้นที่รถบรรทุกครั้งแรกในไทย

สำหรับการออกประกาศวิกฤตฝุ่นนั้น สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่เข้าเกณฑ์ในการออกประกาศ เนื่องจากต้องเป็นสีแดง 5 เขตขึ้นไป ติดต่อกันเกิน 3 วัน จึงยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะออกประกาศได้ แต่หากเกิดวิกฤตจะมีมาตรการ อาทิ ห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ยกเว้นรถที่ขึ้นบัญชี Green list กับ กทม. หรือตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งน่าจะเป็นที่แรกในประเทศไทยที่มีมาตรการนี้ ส่วนมาตรการ Work From Home กรุงเทพมหานครได้เชิญชวนหลายหน่วยงานเข้าร่วมเป็นเครือข่ายได้แล้ว 220 แห่ง รวมกว่า 84,000 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 200,000 คน สำหรับสถานศึกษานั้นจะให้หยุดพักการเรียนการสอนหรือปิดโรงเรียนและให้เรียนออนไลน์แทนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา

“แม้ฝุ่นใน กทม. จะมาจากรถยนต์กว่า 50% การให้ลดหรือห้ามใช้รถยนต์ส่วนบุคคลนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องและกระทบต่อหลายส่วน เพราะรถยนต์มีความจำเป็นในการเดินทางทำธุระส่วนตัว ประกอบกิจการหรือธุรกิจ ส่งผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องยากที่จะขอให้ทุกคนงดการใช้ หรือเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าได้ จึงดำเนินการเบื้องต้นได้แค่การรณรงค์ให้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศแทน เพราะทุกมาตรการต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและความคุ้มค่า” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

• กทม. มาตรวัดค่าฝุ่นเดียวกับ กรมควบคุมมลพิษ แจงประชาชนเช็กการรายงานก่อนเปรียบเทียบ

ทั้งนี้ สำหรับรายงานผลตรวจวัดคุณภาพอากาศ (ค่าฝุ่น PM2.5) ของ กทม.นั้น ใช้ข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดในพื้นที่ ซึ่งมีจำนวน 70 เครื่อง โดยใช้มาตรฐานจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งคนละค่ากับ AQI ที่นำก๊าซหลายตัวมาคำนวณ และการรายงานของ กทม. จะใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชม. ตามที่ WHO กำหนด ซึ่งไม่เท่ากับค่าฝุ่นรายชั่วโมง ทั้งนี้ หากประชาชนดูการรายงานค่าฝุ่นจากหน่วยงานหรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ขอให้ดูว่ารายงานเป็นค่าอะไร โดยประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศผ่านทาง แอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com www.pr-bangkok.com เฟซบุ๊ก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร, กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพมหานคร

• ชวนประชาชนป้องกันตัวเองอีกเกราะเพราะฝุ่นอยู่รอบตัวเรา หากมีปัญหาสุขภาพจากฝุ่น กทม. เปิด 8 คลินิค เฉพาะทางให้บริการ

สำหรับการปฏิบัติตัวในช่วงนี้ว่า ประชาชนทั่วไปใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก

ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยงหรือสงสัยว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพ สามารถเข้ารับบริการที่คลินิกมลพิษทางอากาศ เพื่อเข้ารับการตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในร่างกาย ตลอดจนการขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ฟรี ได้ที่คลินิกมลพิษทางอากาศ ที่เปิดให้บริการทั้ง 8 แห่ง

“ต้องเรียนว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 หลายปัจจัยก็อยู่เหนือความควบคุมของเรา เช่น เรื่องธรรมชาติ สภาพอากาศที่ปิด การเผาในพื้นที่นอก กทม. และประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็พยายามเดินหน้าแก้ปัญหาในทุกมิติ เชื่อว่าในปีนี้ หลาย ๆ โครงการที่ทำและดำเนินการต่อเนื่องมา รวมถึงการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็จะเริ่มเห็นผลและทุเลาปัญหาฝุ่น PM2.5 ใน กทม. ลงได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย