In Bangkok
กทม.รับธงแห่งความรักกับ76จว.ทั่วไทย พร้อมบริการทุกคู่รักสมรสเท่าเทียม
กรุงเทพฯ-กทม. รับธงแห่งความรักพร้อมกับ 76 จังหวัดทั่วไทย แสดงความพร้อมเชิงสัญลักษณ์ยินดีบริการทุกคู่รักที่จะจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม 23 มกราคมนี้
(13 ม.ค. 68) ณ สำนักงานเลขาธิการของสหประชาชาติสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) กรุงเทพมหานคร: นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบธงแห่งความรักในฐานะตัวแทนของกรุงเทพมหานคร แสดงถึงความพร้อมในการให้บริการด้านการทะเบียนที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 โดยมุ่งเน้นให้การจดทะเบียนสมรสสำหรับคู่สมรสทุกคู่เป็นไปอย่างราบรื่นและถูกต้องตามกฎหมาย บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน เพราะบทบาทของนายทะเบียนไม่ได้เป็นเพียงผู้ดำเนินการด้านเอกสารเท่านั้น แต่ยังเป็น “ผู้อำนวยความเท่าเทียม” โดยทั่วกัน นอกจากนี้ยังได้ร่วมส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับนานาชาติในฐานะประเทศที่ยอมรับและเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ (ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่ใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม)
ในการนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในงานกิจกรรม Kick Off แสดงความพร้อมเชิงสัญลักษณ์ “มอบธงแห่งความรักทั่วไทย” พร้อมมอบธงสนับสนุนความเท่าเทียมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักในการทำหน้าที่เป็น “นายทะเบียน” ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนทั้ง 76 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร เพื่อนำธงกลับสู่พื้นที่ในความรับผิดชอบ เป็นสัญลักษณ์แห่งความพร้อมเพรียงในการทำหน้าที่ของนายทะเบียนให้กับทุกคู่รักที่จะจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่ถูกต้องเป็นสำคัญ ภายใต้แนวคิด “สมรสเท่าเทียม ยินดีกับทุกความรัก 878 อำเภอทั่วไทย”
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วยการแสดงนิทรรศการ “สมรสเท่าเทียม ยินดีกับ ทุกความรัก 878 อำเภอ ทั่วไทย (Embracing Equality : Love Wins in 878 Districts)” และกิจกรรมไฮไลต์ คือ การมอบธงสัญลักษณ์ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวม 77 คันธง และการแสดงเสียงสะท้อนจากหลากมุมมองเกี่ยวกับความเท่าเทียม “Symposium Session” ของผู้แทนหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวม 8 องค์กร อาทิ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประเทศไทย ในหัวข้อ “จากนโยบายสู่การปฏิบัติ: การนำหลักการ LNOB (ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง) มาปรับใช้ในบริบทของสมรสเท่าเทียม” ผู้แทนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศแรกของโลกที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม มาร่วมแสดงความยินกับประเทศไทยในวันนี้ พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ผู้แทนภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานกว่า 400 คน