Health & Beauty
รพ.จุฬาฯจับมือกับสภากาชาดไทยเปิดตัว 'Check PD'แอปฯตรวจหาโรคพาร์กินสัน
กรุงเทพฯ-15 มกราคม 2568 กรุงเทพฯ: รพ. จุฬาฯ จับมือสภากาชาดไทย เปิดตัวแอป “Check PD” หลังร่วมกันพัฒนาเพื่อใช้ตรวจหาความเสี่ยงการเป็นพาร์กินสัน เหตุพบสถิติคนไทยเป็นโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นและยังพบในคนอายุต่ำกว่า 60 ปี ชี้ความแม่นยำของการตรวจประเมินมีสูงถึง 90% พร้อมเชิญชวนคนไทยโดยเฉพาะคนอายุ 40 ปีขึ้นไปโหลดแอปประเมินความเสี่ยง เพื่อหาทางป้องกันหรือรักษาได้ทันท่วงที
คุณเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เปิดเผยว่า พาร์กินสันเป็นหนึ่งในโรคความเสื่อมทางระบบประสาทที่พบมากในผู้สูงอายุ และยังเป็นโรคที่มีอัตราการเกิดเพิ่มสูงที่สุดในกลุ่มโรคความเสื่อมทางระบบประสาทด้วยกัน คาดกันว่าในปี 2040 จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว สำหรับประเทศไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ จากปัจจัยเสี่ยงเรื่องอายุที่มากขึ้น และปัจจัยทางพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีผลทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศไทยเพิ่มสูงมากขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบัน และจากการที่การวินิจฉัยโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้นยังคงทำได้ยาก เพราะอาจจะมีอาการที่แสดงออกมายังไม่มาก อีกทั้งการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยในบางพื้นที่เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาได้ยาก ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยโรคมีอาการที่ค่อนข้างมาก หรืออยู่ในระยะการดำเนินโรคระยะกลาง ทำให้การรักษาค่อนข้างยากและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง อีกทั้งตัวผู้ป่วยเองยังอาจเกิดความทุพพลภาพ และส่งผลต่อคุณภาพในการดำเนินชีวิต ซึ่งโรคนี้แม้ว่าจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก สามารถวางแผนการรักษาและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รศ. นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า แอปพลิเคชัน Check PD เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยในการวินิจฉัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังทางระบบประสาทที่ส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยการตรวจพบโรคพาร์กินสันตั้งแต่ระยะแรกของการดำเนินโรค มีความสำคัญต่อการวางแผนการรักษา และการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพ การพัฒนาระบบบริการที่ทันสมัยและเข้าถึงได้ ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งการพัฒนาแอปพลิเคชัน Check PD นี้ ถือเป็นความสำเร็จในความร่วมมือที่สำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพ ที่สามารถช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน สามารถวางแผนการดูแลสุขภาพ การป้องกัน และการรักษาได้อย่างเหมาะสม
ศ. นพ. รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าโรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่ไม่ได้แสดงอาการทันที แต่มีระยะเวลาของการเตือนและระยะเวลาของการดำเนินโรคที่ค่อนข้างนาน เฉลี่ยนานถึง 10-20 ปี โดยอาการที่ชัดเจนคืออาการสั่น ส่วนอาการเตือนอื่นๆ เช่น อาการท้องผูกเรื้อรัง อาการนอนละเมอ ออกท่าทางหรือออกเสียงที่สัมพันธ์กับเนื้อหาความฝัน ฯลฯ มักถูกมองว่าไม่ใช่อาการผิดปกติ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวไม่คิดว่าตนเองเป็น จึงไม่ได้พบแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
จากการที่อาการของโรคพาร์กินสัน ส่งผลให้การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะพาร์กินสันเป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติในการทรงตัว ผู้ที่มีอาการมาก จะเคลื่อนไหวด้วยตัวเองลำบาก มีความจำเป็นต้องมีผู้ดูแล ดังนั้นหากสามารถตรวจเช็กได้ล่วงหน้าถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าว เพื่อหาทางป้องกัน หรือลดความรุนแรงของอาการได้ จะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ป่วย เพราะพาร์กินสันเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้หากตรวจพบได้เร็ว ทางศูนย์ฯ จึงได้ร่วมกับทางสภากาชาดไทย ในการพัฒนาแอปประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสัน หรือแอป CHECK PD ขึ้นมา
“นอกจากผู้สูงอายุที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลักแล้ว ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน จากสถิติที่พบว่าปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน พบในผู้ป่วยอายุน้อยลง และพาร์กินสันเป็นโรคที่มีระยะเวลาในการดำเนินโรคค่อนข้างนาน ดังนั้น การที่สามารถตรวจเช็กได้ล่วงหน้าถึงความเสี่ยงของการเป็นโรคพาร์กินสัน จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อที่จะหาทางป้องกัน หรือเข้าสู่กระบวนการรักษาเพื่อลดอาการรุนแรงของโรค” ศ. นพ. รุ่งโรจน์กล่าว
“Check PD” เป็นแอปพลิเคชันที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสัน ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพ การป้องกัน และการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน โดยสามารถตรวจเช็กความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสันได้ด้วยตนเอง สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยใช้เวลาประมาณ 25 นาทีในการทำแบบประเมินความเสี่ยง 20 ข้อ ซึ่งการเช็กนี้มีทั้งการตอบคำถาม การทดสอบขยับนิ้ว การทดสอบอาการสั่น การทดสอบการทรงตัว การทดสอบการออกเสียง หลังจบทุกขั้นตอนการเช็กแล้ว สามารถกดรับผลในแอปพลิเคชันได้ทันที ซึ่งผลที่ได้ให้ความแม่นยำสูงถึง 90% สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CHECK PD ได้แล้ววันนี้ทั้งแอปสโตร์และเพลย์สโตร์
ด้านโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ศิลปินนักเปียโนชื่อดัง ผู้ที่เคยแต่งและร้องเพลงพาร์กินสัน เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน กล่าวว่า โรคพาร์กินสันสามารถตรวจเช็กหาความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ล่วงหน้า หากพบว่ามีความเสี่ยง สามารถป้องกันและรักษาได้ ซึ่งทางสภากาชาดไทยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ได้ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน Check PD ขึ้นมา ที่จะเป็นประโยชน์กับการดูแลสุขภาพของทุกคน จึงอยากขอเชิญชวนทุกคนโหลดแอปพลิเคชันนี้และตรวจเช็กความเสี่ยงของตัวเอง หากพบว่ามีความเสี่ยงจะได้เข้าสู่กระบวนการตรวจรักษา เพราะโรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่หากตรวจพบไวก็จะรักษาได้ไว
เพื่อให้แอปพลิเคชัน Check PD เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องในการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสัน อีกทั้งยังเป็นการร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมลงพื้นที่คัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสันทั่วประเทศ และส่งต่อระบบสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง สภากาชาดไทย ยังได้เชิญชวนร่วมกันบริจาค ในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน หรือร่วมบริจาคเงิน 76 บาท ภายใต้แคมเปญ “พาร์พบแพทย์” เพื่อร่วมค้นหา คัดกรอง ช่วยเหลือผู้ป่วยพาร์กินสันกว่า 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการบริจาคสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนโครงการได้โดยบริจาคเงินผ่านบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี สภากาชาดไทย สำนักงานจัดหารายได้ เลขที่บัญชี 045-2-62588-8 ภายหลังโอนเงินบริจาคแล้วสามารถส่งหลักฐานการโอนเงิน แจ้งชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และหมายเลขบัตรประชาชน (เพื่อใช้ในการยื่นลดหย่อนภาษี) ระบุว่า "ค้นหาพาร์กินสัน พาผู้ป่วยพบแพทย์" ส่งเอกสารมาที่ Email: donation@redcross.or.th เพื่อที่ทางสภากาชาดไทยจะได้ดำเนินการจัดส่งใบเสร็จรับเงินสำหรับการยื่นลดหย่อนภาษีต่อไป
ในกรณีที่บริจาคผ่าน QR CODE e-Donation สามารถลดหย่อนภาษี 2 เท่า เฉพาะเจ้าของบัญชีเท่านั้น ไม่ต้องนำหลักฐานเพื่อออกใบเสร็จรับเงิน ข้อมูลการบริจาคส่งตรงไปยังสรรพากรโดยอัตโนมัติ