In Thailand

นครปฐมจัดรณรงค์การเรียนรู้การเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมลดการเผาฟาง



นครปฐม-จัดเวทีรณรงค์สร้างการรับรู้และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Day)” แก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร  

วันที่ 16 มกราคม 2568 ที่อาคารอเนกประสงค์โรงเรียนวัดไผ่หูช้าง ตำบลไผ่หูช้าง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม นายอรรถวุฒิ พึ่งเนียม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานเปิดเวทีรณรงค์สร้างการรับรู้และการเรียนรู้การเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Day) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตร ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร  

นางสาวธนนันท์ ศรีสุวะ เกษตรจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า  ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมและมลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การขนส่งและการคมนาคม โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง มลพิษข้ามแดน การเผาในพื้นที่โล่ง และพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เกษตรกรและชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการในพื้นที่ และจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เกษตรกรยังคงเผาเศษวัสดุในพื้นที่เพื่อทำการเกษตรในฤดูถัดไปหรือปล่อยทิ้งไม่นำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีปริมาณมากและเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลากหลาย การส่งเสริมให้เกษตรกรและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่และจัดการวัสดุเหลือใช้ 

ประกอบกับ จังหวัดนครปฐม มีพื้นที่การเกษตร จำนวน 524,909 ไร่  เป็นพื้นที่ปลูกพืชที่มีความเสี่ยงในการเผาตามการประเมินความเสี่ยง 2 ชนิด ได้แก่ นาข้าว จำนวน 229,503 ไร่ อ้อยโรงงาน  จำนวน 89,381  ไร่ เศษวัสดุเหลือจากการทำการทำนา ได้แก่ ฟางข้าวและตอซังข้าว จำนวนเฉลี่ย 650 กิโลกรัมต่อไร่ และเศษวัสดุจากอ้อยโรงงาน ได้แก่ ใบอ้อย จำนวนเฉลี่ย  2 ตันต่อไร่ 

ทั้งนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม จึงได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือเพื่อบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย
1.    กิจกรรมการเสวนา เรื่อง “การทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก”
2.    นิทรรศการ การทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3.    การจัดสถานีถ่ายทอดความรู้ จำนวน 4 ฐานเรียนรู้ ประกอบด้วย    
        ฐานเรียนรู้ที่ 1 การย่อยสลายฟางและการทำนาแบบไม่เผาฟาง
        ฐานเรียนรู้ที่ 2 การทำเห็ดฟางในตะกร้า และเห็ดฟางกองเตี้ย
        ฐานเรียนรู้ที่ 3 การทำปุ๋ยหมักและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ
        ฐานเรียนรู้ที่ 4 การทำกระถางแปรรูปเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม/ข่าว