Digitel Tech & Innovation

สกสว.-เครือข่ายเศรษฐกิจและนวัตกรรม ระดมความเห็นต่ออุตฯเซมิคอนดักเตอร์ฯ



กรุงเทพฯ 17 มกราคม 2568 –สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ6 หน่วยงานภาคี ประกอบด้วย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) ต่อ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย” จากผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน  และภาควิชาการ เพื่อนำข้อคิดเห็นไปวิเคราะห์และปรับปรุง ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ รวมถึงพิจารณากำหนดเป้าหมาย และทิศทางเชิงยุทธ์ศาสตร์ของการยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศ

รศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกสว. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันยกร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ฯ และการประชุมครั้งนี้เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับใช้ให้แผนยุทธศาสตร์ฯ มีความสมบูรณ์และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยมากที่สุด แผนยุทธศาสตร์นี้ ไม่ใช่แผนเฉพาะของ ววน. แต่เป็นแผนของทั้งประเทศ ที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการนำไปใช้ให้เป็นทิศทางที่เสริมพลังกันอย่างดีที่สุด โดยมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก การดำเนินงานในวันนี้จะไม่หยุดเพียงแค่การรับฟังความคิดเห็น แต่จะนำไปปรับปรุงร่างแผนยุทธศาสตร์ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยจะมีการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภายในกระทรวง อว. และหน่วยงานนอกกระทรวง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านความสามารถในการแข่งขัน สกสว. กล่าวว่า เซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องสำคัญ และประเทศไทยมีโอกาสและศักยภาพในเรื่องนี้ รัฐบาลจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งที่ผ่านมา สกสว. จับมือกับสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อพัฒนาโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก ระยะเวลา 3 ปี โดยมีงบประมาณรวม 1,500 ล้านบาท โดย สกสว. ยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย เพื่อวางเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ทั้งในมิติของการพัฒนากำลังคน การพัฒนางานวิจัย รวมถึงมาตรการต่างๆ ให้มีความชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเมื่อพัฒนา ร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ นี้แล้วเสร็จจะนำเสนอไปยังฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ รวมถึงสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติต่อไป

ทั้งนี้ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของประเทศไทย มีเป้าหมายสำคัญ 2 มิติ คือ การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมจากต่างประเทศ และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้กับผู้ประกอบไทย โดยมีการวางกลยุทธ์และตัวชี้วัดในด้านต่างๆ ทั้งการพัฒนาและสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับผู้ประกอบการผ่านการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ อย่างยั่งยืน ตลอดจนการกระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดให้กับผู้ประกอบการท้องถิ่นภายในประเทศ (local demand side) อันนำไปสู่การทำให้ประเทศไทยเป็นฐานของการผลิตในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลก และรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมดิจิทัล

ทั้งนี้ สกสว. และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จะนำข้อคิดเห็นที่ได้จากการรับฟังไปวิเคราะห์และปรับปรุง ร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ฯ เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางเชิงกลยุทธ์ รวมถึงแนวทางการยกระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทยที่ชัดเจน ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะสามารถนำไปประกอบการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่สอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยงานและร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป