In News
กทม.ร่วมปตท.ฉีดวัคซีนคลัสเตอร์สำคัญ
กรุงเทพฯ-ผู้ว่าฯกทม. จับมือ ปตท. ฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุกกลุ่มคลัสเตอร์สำคัญ เตรียมจัดตั้ง Hospitel เพิ่มเติมรองรับผู้ป่วยโควิด-19
(22 มิ.ย.64) : พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจเยี่ยม “หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ณ โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) เขตหลักสี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เคลื่อนที่ (Mobile Vaccine Unit) เพื่อแก้ไขปัญหาการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ ผู้บริหาร ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเขตหลักสี่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมตรวจเยี่ยม
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานครดำเนินงานตามมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสอบสวนโรคและค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษา รวมทั้งนำมาตรการการให้วัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” (herd immunity) ทั้งนี้จากสถานการณ์ที่เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในหลายพื้นที่เขตของกรุงเทพมหานคร สำนักอนามัยจึงได้กำหนดแผนการจัดหน่วยบริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 เชิงรุกเพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ที่มีการแพร่ระบาด เป็นการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ให้ขยายวงกว้าง ที่ผ่านมาสำนักอนามัยได้มีการดำเนินการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตดุสิต เขตหลักสี่ เขตบางแค และเขตคลองเตย โดยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ได้เข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจ ของหน่วยบริการวัคซีนป้องกันโควิด -19 เชิงรุก จำนวน 10 หน่วยบริการ ใน 5 พื้นที่เขตที่มีการระบาด
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีภารกิจสำคัญในการมุ่งฉีดวัคซีนแบบกลุ่มก้อนแก่ชุมชนพื้นที่ กทม. ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระดับสูง และมีลักษณะเป็นคลัสเตอร์ในชุมชนที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่น โดยเฉพาะผู้ป่วยในชุมชน ผู้พิการ หรือแรงงานที่อยู่ในแคมป์คนงานต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งแคมป์คนงานในพื้นที่เขตหลักสี่ถือว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่ต้องได้รับวัคซีนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดโดยเร่งด่วน ซึ่งหน่วยฉีดวัคซีนในลักษณะนี้จะเคลื่อนย้ายจุดไปทั่วพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดแผนในการสนับสนุนการจัดหน่วยบริการฯ เพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 5 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 21 – 23 มิ.ย. 64 ณ โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) เขตหลักสี่ ครั้งที่ 2 วันที่ 25 – 26 มิ.ย. 64 ณ วัดสุนทรธรรมทาน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ครั้งที่ 3 วันที่ 29 มิ.ย – 13 ก.ค. 64 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง ครั้งที่ 4 วันที่ 14 – 18 ก.ค. 64 ณ โกดังสเตเดียม การท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย และ ครั้งที่ 5 วันที่ 21 – 22 ก.ค. 64 ณ วัดสุนทรธรรมทาน เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ทั้งนี้ กทม. ขอขอบคุณ ปตท. ที่เป็นหน่วยงานเอกชนรายแรกในการเข้ามาช่วยสนับสนุนจุดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกแบบครบวงจร รวมถึงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ร่วมเป็นหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกในครั้งนี้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับจำนวนเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ณ Hospitel และโรงพยาบาลสนาม กทม. ปัจจุบันมีจำนวน 2,000 กว่าเตียง ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้ผู้ป่วยครองเตียงเกือบเต็มแล้ว เพื่อเป็นการรองรับผู้ป่วยที่อาจมีจำนวนมากขึ้น กทม. ได้เตรียมจัดตั้ง Hospitel เพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดต่อกับโรงแรมที่จะเข้ามาเป็นเครือข่ายกับโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. กับ กทม. ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการเร่งปูพรมกระจายฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด และเข้าถึงทุกคน ทุกพื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศตามนโยบายของภาครัฐ พร้อมช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ ที่ต้องอาศัยทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อีกทั้งได้ระดมพนักงานจิตอาสา ปตท. สนับสนุน กทม. ในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเชิงรุกในชุมชนพื้นที่เสี่ยง ทั้งในเขตหลักสี่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดินแดง และเขตคลองเตย รวมทั้งผนึกความร่วมมือและความเชี่ยวชาญของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีประสิทธิภาพ มุ่งหวังฟื้นลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศ ตามเจตนารมณ์ของ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” กลุ่ม ปตท.
“กลุ่ม ปตท. ได้ร่วมวางระบบงานดิจิทัล และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการปฏิบัติการเชิงรุกครั้งนี้ และสนับสนุนพนักงานกลุ่ม ปตท. ร่วมเป็นจิตอาสาในส่วนของการทำงานกับหน่วยบริการ ช่วยบริหารจัดการคิวผู้เข้ารับวัคซีน ประสานงาน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนั้นยังได้ร่วมสนับสนุนอาหาร น้ำดื่มแก่เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยต่าง ๆ อีกทั้งจัดเตรียมสินค้าวิสาหกิจชุมชนจากโครงการ “ชุมชนยิ้มได้” ที่ ปตท. ได้ส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคเกษตรกร มอบให้กับประชาชนที่มาฉีดวัคซีนอีกด้วย โดยหวังว่า ปตท. จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องเข้าถึงวัคซีนอย่างเร่งด่วน อันจะช่วยยับยั้งการระบาดของ COVID-19 และช่วยขับเคลื่อนต่อลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวโดยเร็วต่อไป”
ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนทุกภาคส่วนในการรับมือภาวะวิกฤต COVID-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มการระบาดในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมมูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาท โดยระดมสรรพกำลังความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท.ในการสนับสนุนงานวิจัยสู้ภัย COVID-19 อาทิ ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) ชุดป้องกันการติดเชื้อความดันบวก (PAPR) การสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาชุดตรวจคัดกรองและการวิจัยพัฒนาวัคซีน Chula-Cov 19 สนับสนุนแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ อีกทั้งจัดตั้งโครงการลมหายใจเดียวกัน มูลค่า 200 ล้านบาท โดยเร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดขั้นวิกฤต ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคกว่า 70 โรงพยาบาล จำนวนกว่า 300 เครื่อง รวมไปถึงการสนับสนุนกล่องพลังใจ สู้ภัย COVID-19 อาหาร น้ำดื่ม แก่โรงพยาบาลสนาม กทม. และบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งได้มอบถุงยังชีพและอาหารจากสมาคมภัตตาคารไทยแก่ชุมชนคลองเตย และล่าสุด ได้ขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาท/คน/เดือน ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ต่อไปอีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 11 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลดต้นทุนค่าครองชีพ และต่อลมหายใจเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตลอดจนเป็นกำลังใจและเคียงข้างสังคมไทย ด้วยลมหายใจเดียวกัน เพื่อให้คนไทยและประเทศก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันโดยเร็วที่สุด