Automotive info

'อู่เชิดชัย'ทำเอ็มโอยูโฟตอนจากจีนผลิต รถบัสโดยสารอีวีวิ่งโคราช-กทม.500คัน



นครราชสีมา - เมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่บริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด เลขที่ 1069 ถนนมิตรภาพ อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง บริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัด กับ บริษัท Foton International Trade Co., Ltd., Beijing  โดยนายอัสนี เชิดชัย และนางกฤตตินี เชิดชัย ในฐานะ CEOและCFO ฝ่ายบริษัท อู่เชิดชัยฯ ด้าน บริษัท  Foton โดย Mr.Hogan Liu (โฮแกน หลิว) รองประธาน บริษัท Fotonฯ และ Miss.Lina Li (ลินา ลี่) ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อความร่วมมือทางธุรกิจ โดยใช้ศักยภาพของทั้งสองฝ่ายในการผลิตภัณฑ์รถบัสไฟฟ้าแบบวิ่งระหว่างจังหวัด Coach buses และแบบวิ่งในเมือง City buses ในประเทศไทย

นายอัสนี เชิดชัย  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท อู่เชิดชัยอุตสาหกรรม จำกัดกล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยได้พัฒนายานยนต์มาอย่างต่อเนื่อง ช่วงระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาหันมาใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น อู่เชิดชัยปรับตัวจากการผลิตยานยนต์พลังงานสันดาปมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เดิมค่าโดยสารโคราช-กรุงเทพ ราคาตั๋วกว่า 200 บาท สามารถปรับลดเหลือเที่ยวละ 160-180 บาท

โดยบริษัท อู่เชิดชัยฯ ใช้เทคโนโลยีการผลิตตัวถังของตนเอง ซื้อแซซซีรถไฟฟ้าจาก Foton เพื่อผลิตรถบัสไฟฟ้าสำหรับตลาดทั้งในและต่างประเทศ กำหนดผลิตรถต้นแบบแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ คาดว่าให้บริการได้ภายในปี 2568 กว่า 200 คัน และจะเพิ่มกำลังการผลิตในปีต่อๆ ไป เป้าหมายมากกว่า 500 คัน ภายใน 3 ปี

การผลิตรถโดยสารอีวีใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ผลิตคัสซี มอเตอร์ แบตเตอรี่ คอนโทรลเลอร์และบุคลากรผู้ฝึกสอน รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยจากโฟตอน ประเทศจีน เข้ามาเทรนนิ่งแรงงานให้มีศักยภาพ ก้าวทันเทคโนโลยี

นายอัสนีฯ กล่าวต่อว่า “เชิดชัยเริ่มพัฒนาและผลิตรถบัสโดยสารอีวี มีแผนใช้งบปรับปรุงเปลี่ยนแปลง 300-500 ล้านบาท ถือเป็นการขานรับนโยบายรัฐบาลเพื่อไทยที่ตั้งงบประมาณ 5 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุน ขสมก.ในการเปลี่ยนแปลงปรับปรุง คาดว่าพร้อมให้บริการรถโดยสารอีวี สาย 21 โคราช-กรุงเทพฯ เที่ยวแรกช่วงต้นเดือนเมษายนนี้”

นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างอู่เชิดชัยกับโฟตอน รัฐวิสาหกิจของประเทศจีน เป็นสิ่งที่น่ายินดีสอดคล้องกับปีนี้ครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ถือเป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศหลายประการ ได้แก่ พัฒนาเปลี่ยนแปลงรถบัสโดยสารจากเครื่องยนต์สันดาปเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยให้ค่าโดยสารมีราคาถูกลง ลดมลพิษทางอากาศ และจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ที่สำคัญมีการซื้อขายวัตถุดิบ ชิ้นส่วน อะไหล่ต่างๆ จากประเทศไทย ช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อผลิตแล้วใช้ได้อย่างมีคุณภาพก็จะมีการส่งออกไปยังประเทศภูมิภาค สร้างรายได้ให้ประเทศได้อีก

ด้านนายโฮแกน หลิว กล่าวว่า Foton Motor และกลุ่มเชิดชัย ได้เจรจาความร่วมมือในธุรกิจรถโดยสาร เราจัดหาช่วงล่างรถโดยสารไฟฟ้าให้กับกลุ่มเชิดชัย ส่วนตัวถังรถโดยสารกลุ่มเชิดชัยเป็นผู้ผลิต เป้าหมายยอดขายรถโดยสารพลังงานอีวีปีนี้ประมาณ 500 คัน ซึ่งเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมรถโดยสารพลังงานอีวีระดับโลก และ Foton Motor ยังคงส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงและยกระดับ” ส่วนประเทศไทยเร่งสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยียานยนต์ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้และพัฒนาระดับอุตสาหกรรมและความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน

นครราชสีมา / กัญศลักษณ์ รุ่งสุขประเสริฐ