In News
'เฉลิมชัย'ยัน6มาตรการแก้ปัญหา'ช้างป่า' ทำรั่วไฟฟ้า-คุมกำเนิด-เยี่ยวยาปชช.
กรุงเทพฯ-“เฉลิมชัย” แจงชัด 6 มาตรการแก้ปัญหา“ช้างป่า” พร้อมปรับปรุงหลักเกณฑ์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ย้ำวัคซีนคุมกำเนิด ไม่ใช่ทำหมัน ชี้เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวให้คนอยู่ร่วมกับช้างได้
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ชี้แจงถึงแนวทางการแก้ปัญหาช้างป่าอย่างเป็นรูปธรรม ในการตอบกระทู้ถามทั่วไปที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 ว่า ในฐานะ รมว.ทส. อยากให้มีเวทีสร้างความเข้าใจปัญหาคนกับช้างป่า ตั้งแต่มาเป็น รมว.ทส. มีหน้าที่รักษาชีวิตประชาชน และหน้าที่อนุรักษ์ช้างไปพร้อม ๆ กัน ตนจึงมีแนวคิด “อยากจะให้คนอยู่ร่วมกับช้างได้โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย” วันนี้มีช้างป่าจำนวน 4,000 กว่าตัว จากสถิติก่อให้เกิดความเสียหายทั้งการเสียชีวิตและการบาดเจ็บ ทั้งของประชาชนและเจ้าหน้าที่ ยังไม่นับรวมความเสียหายต่อภาคการเกษตรที่เป็นความสูญเสียที่ใหญ่หลวงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ปัจจุบันช้างมีอัตราการเกิด 7-8 % หากปล่อยไปอีก 10 ปีจะมีช้างป่าเพิ่มเป็นเท่าหนึ่งคือ 8,000 กว่าตัว หากไม่เร่งแก้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ซึ่งวันนี้ได้เร่งดำเนินการพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิด หาแนวทางการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง
และยังได้ทบทวน 6 มาตรการ แก้ไขปัญหาช้างป่าที่คณะกรรมการอนุรักษ์และจัดการช้าง ได้เคยมีมติให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 โดยได้นำมาตรการทั้ง 6 ข้อมาดูว่ามีตรงไหนที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และไม่รีบดำเนินการ ซึ่ง มาตรการ 6 ข้อ ประกอบด้วย
1) การเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่อาหารให้ช้างป่า เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง อาจมีบางฝ่ายมองว่าคนรุกป่า แต่ตนมองว่าปัญหามีไว้แก้ไข
2) การสร้างแนวป้องกันช้างป่า ที่ผ่านมามีการทำแนวรั้ว รั้วไฟฟ้า แนวคูขุด และกำแพงกั้น แต่ไม่สามารถกันช้างป่าได้ เนื่องจากช้างมีพัฒนาการ และงบประมาณที่ได้รับไม่ต่อเนื่อง ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่าง พื้นที่ปัญหามีความยาว 50 กิโลเมตร แต่ทำได้เพียง 20 กิโลเมตร มีช่องว่าง 30 กิโลเมตรก็ไม่สามารถเป็นแนวกันช้างได้
3) การจัดชุดเฝ้าระวังผลักดันช้างป่า ซึ่งมีทั้งเครือข่ายอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ และในจำนวนผู้เสียชีวิตก็มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯ หลายท่าน ทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต
4) การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าที่ออกมาสร้างความเดือดร้อน ทั้งเรื่องของเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน กองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่า
5) การจัดการพื้นที่รองรับช้างป่าอย่างยั่งยืน เราได้ดำเนินการในส่วนของ 5 กลุ่มป่า ได้แก่ (1) กลุ่มป่าตะวันออก (2) กลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน (3) กลุ่มป่าคลองเขาสก (4) กลุ่มป่าเขาเขียวน้ำหนาว และ (5) กลุ่มป่าดงพญาเย็น เขาใหญ่
6) แก้ปัญหาอัตราการเพิ่มของช้าง 7- 8% หรือ 10% ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่ทำให้อัตราการเกิดของช้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่ที่อยู่และพื้นที่ที่เป็นอาหารกลับมีอยู่เท่าเดิมหรือน้อยกว่าเดิม
“เมื่อปริมาณช้างมากขึ้น ขอบเขตของการเดินหาอาหารของช้างป่าก็จะขยายมากขึ้น จนเข้าสู่พื้นที่ภาคการเกษตรของประชาชน เราจึงมีมาตรการว่าหากเราจะดำเนินการตามข้อ 1-5 ได้ผล เราต้องมีการควบคุมประชากรของช้างป่าให้อยู่นิ่งก่อน เพื่อที่จะได้ดำเนินการในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่อาหาร การดำเนินการกั้นรั้ว แนวรั้ว ตั้งโครงการอาสา หรือผลักดันช้างโดยเจ้าหน้าที่ ถึงจะดำเนินการได้” รมว.ทส. กล่าว
ดังนั้น จึงมีการคิดค้นวัคซีนเพื่อคุมกำเนิดช้าง ซึ่งไม่ใช่การทำหมัน เพื่อให้รอบการเกิดของช้างน้อยลง จะได้จัดการปัญหาอย่างอื่นได้ และวัคซีนตัวนี้ได้รับการรับรองแล้วว่าไม่มีอันตราย โดยทดลองใช้กับช้างบ้าน มีผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน “การดำเนินการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จะดำเนินการในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเสียก่อน และจะดำเนินการกับช้างเพศเมียที่เคยมีลูกแล้วเท่านั้น วัคซีนจะไปมีฤทธิ์ในการควบคุมฮอร์โมน สามารถควบคุมได้ 7 ปี ซึ่งเชื่อว่าใน 7 ปี เราจะสามารถเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่อาหาร เพื่อแก้ปัญหาช้างได้ดีขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ปริมาณช้างขยายไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถควบคุมได้” รมว.ทส. กล่าว
วันนี้นอกจากติดตามการดำเนินการตาม 6 มาตรการแล้ว ยังมีการเพิ่มอาสาสมัคร และนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยมีการบินโดรนตามแนวป่าที่ติดกับแนวพื้นที่ประชาชน เพื่อให้รู้การเคลื่อนไหวของช้างป่าว่ามีการออกมาจากป่าวันไหน ชุดปฏิบัติการและชุดอาสาจะเข้าไปผลักดันช้างได้ทันท่วงที
สำหรับการชดเชยเยียวยาให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ เรามีการเยียวยาทั้งหมด 3 ประเภท คือ (1) การเยียวยาเรื่องการบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิต (2) การเยียวยาความเสียหายภาคการเกษตร และ (3) เป็นส่วนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งอาสาสมัครที่เข้ามาดำเนินการในส่วนของการช่วยผลักดันช้างและเฝ้าระวังช้าง
“การเยียวยามีหลักเกณฑ์ในการดำเนินการเป็นภาพรวม เราไม่สามารถที่จะแยกได้ว่าช้างก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องเยียวยาเป็นจำนวนเท่านี้ วัวกระทิงหรือสัตว์ต่าง ๆ ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องชดเชยเท่านี้ เพราะในระบบราชการถูกกำหนดไว้เป็นระเบียบว่าในกรณีที่เกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ จากสัตว์ป่า ถูกกำหนดชัดเจนว่าจะได้รับการเยียวยาประเภทละ ซึ่งแต่ละประเภทไม่เท่ากัน เช่น เป็นไม้ยืนต้นเท่าไหร่ เป็นพืชล้มลุกเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอรับไปเพื่อจะปรึกษาหารือว่าเราจะสามารถเพิ่มค่าชดเชยเยียวยาตรงนี้ให้กับพี่น้องประชาชนที่รับผลกระทบได้หรือไม่ ซึ่งทราบดีว่าบางครั้งเงินชดเชยเยียวยาที่ได้ไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ราชการก็ไม่สามารถจะให้เกินไปกว่าที่มีการกำหนดไว้ในระเบียบได้ ผมยอมรับว่าเป็นความหนักใจของคนทำงาน แต่จะนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหาทางแก้ไขว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ในส่วนของการได้รับบาดเจ็บ มีประกาศหลักเกณฑ์ และการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากสัตว์ป่า พ.ศ. 2567 ที่จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าทุกชนิดได้รับการช่วยเหลือเยียวยา และกรมอุทยานฯ ยังสามารถขอใช้จ่ายเงินอนุรักษ์สัตว์ป่า ประเภท ข. ที่จะดำเนินการให้ในส่วนของผู้บาดเจ็บ ทุพพลภาพ อัมพาต สูญเสียแขน สายตา ตาบอดสองข้าง รายละ 100,000 บาท สำหรับการบาดเจ็บทั่วไปจ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการรักษาจำนวนไม่เกิน 300 บาทต่อวัน ไม่เกิน 180 วัน กรณีเสียชีวิตได้ 100,000 บาท เป็นต้น ซึ่งตรงนี้จะมีเงินกองทุนที่จะไปดำเนินการให้ นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือเพิ่มเติมว่าเราจะสามารถทำอย่างไรที่จะดูแลพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้มากกว่านี้ได้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเคลื่อนที่เร็วต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยหน้าในการผลักดันช้างป่า ก็มีอัตราการเสี่ยงสูง ส่วนนี้กรมอุทยานฯ ได้ดูแลโดยการทำประกันให้กับบุคลากรเหล่านั้นเพื่อที่จะได้ทำงานด้วยความสบายใจว่าเมื่อมีการได้รับบาดเจ็บ จะมีการตอบแทนจากภาครัฐเพิ่มขึ้น
“ทั้งหมดเป็นมาตรการที่เราได้ดำเนินการอยู่ ระเบียบต่าง ๆ ก็มีใช้มานาน เพราะฉะนั้นราคาสิ่งที่ตอบแทนอาจจะไม่สอดคล้องตามความเป็นจริงมากนัก แต่ระเบียบต่าง ๆ ถูกออกมาใช้สำหรับทั้งประเทศ การแก้ไขแต่ละเรื่องจึงมีผลกับงบประมาณภาพรวมของทั้งประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่าควรมีการชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่านี้ จึงขอยืนยันว่าจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป และจะใช้เงินกองทุนของกรมอุทยานฯ และจะเร่งดำเนินการทันที เพราะถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้อีก 10 ปี หรือ 20 ปีข้างหน้าปัญหานี้จะเป็นปัญหาระดับชาติ และจะไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ในแนวรอยต่อของป่าอย่างเดียว แต่จะลามมาถึงในเขตเมือง และเขตภาคการเกษตรที่อยู่ในเมืองมากยิ่งขึ้น” ดร.เฉลิมชัย กล่าว