Biz news
'ดีพร้อม'รุก'ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้' อัพสกิลผู้ประกอบการเติบโตอย่างยั่งยืน
กรุงเทพฯ-กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับนโยบาย “ดีพร้อม คอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” เร่งอัพสกิลผู้ประกอบการด้านความปลอดภัยในซัพพลายเชน และการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก เทคโนโลยีดิจิทัล และภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างทางรอด เดินต่อ และเติบโตอย่างยั่งยืน
นางสาวนันท์ บุญยฉัตร ผู้อำนวยการกองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 4.0 ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) สนับสนุนโดยข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ควบคู่กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอื่น ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานของภาคธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว จึงทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจาก Technology Disruption รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ ที่เป็นภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่าย และข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ตลอดจนภัยพิบัติต่าง ๆ และการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้หากสถานประกอบการมีการเตรียมความพร้อมต่อการรับมือความเสี่ยงดังกล่าว จะสามารถป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมที่มีโอกาสเกิดขึ้นในการดำเนินงานได้ ตามโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นางสาวนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองโลจิสติกส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ได้ขานรับนโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ของนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในการยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิม (อัพสกิล) และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมในการจัดการกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับบุคลากรและองค์กร รวมถึง คู่ค้าในซัพพลายเชน กองโลจินติกส์จึงได้จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “Designing A Business Strategy” ภายใต้กิจกรรมการส่งเสริมการบริหารจัดการความปลอดภัยในซัพพลายเชน (Supply Chain Security) และการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งได้เปิดกิจกรรมฯ ไปเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการความปลอดภัยในซัพพลายเชนและการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจให้กับสถานประกอบการ และเพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการมีการประเมินความเสี่ยง มีแผนรองรับความเสี่ยงในซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการทบทวนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสมื ตั้งเป้าหมายให้สถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศส่งบุคลากรเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 60 คน ระยะเวลาดำเนินงาน 100 วัน โดยกลุ่มเป้าหมายสถานประกอบการต้นแบบ จะต้องมีแนวทางการบริหารความปลอดภัยในซัพพลายเชนและการบริหารความต่อเนื่องของซัพพลายเชนทางธุรกิจ
สำหรับการฝึกอบรมภาคทฤษฎี ใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง ในจำนวน 3 หมวด ได้แก่ 1. หมวดความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการค้นหาความเสี่ยงกระบวนการในการวินิจฉัยสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถวิเคราะห์ภาพรวมของการบริหารความเสี่ยงในองค์กร ระบุปัญหาและสาเหตุของปัญหาได้ เช่น ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ (Strategic Ricks) ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน (Operational Risks) ความเสี่ยงด้านการเงิน (Financial Risks) ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการ (Project Risks) และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder Risks) 2. หมวดความรู้เกี่ยวกับการประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงเทคนิคและเครื่องมือในการจัดทำแผนหรือข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนาองค์กร และอ 3. หมวดความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยง
นอกจากนี้ ดีพร้อม จะให้คำปรึกษาเชิงลึก ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง จำนวน 3 สถานประกอบการต้นแบบ โดยการฝึกประเมินวินิจฉัยและให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกกับผู้ประกอบการที่เป็นกรณีศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะของผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยการนำความรู้จากภาคทฤษฎีมาปรับใช้เพื่อได้สถานประกอบการต้นแบบ รวมทั้งการจัดกิจกรรมนำเสนอผลการปรับปรุง จากภาคปฏิบัติการประเมินวินิจฉัยและให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานประกอบการต้นแบบร่วมกัน
“ดีพร้อม เชื่อมั่นว่าการบริหารความเสี่ยงในซัพพลายเชนเพื่อปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไม่ใช่แค่เครื่องมือป้องกันวิกฤต แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีทางรอด เดินต่อ และเติบโตสู่สากล อย่างยั่งยืน” นางสาวนันท์ กล่าวทิ้งท้าย