In Bangkok
ปิดฉากแล้ววันนี้ 'กรุงเทพกลางแปลง'ปี3 ขับเคลื่อนศก.ชุมชนและอุตฯบันเทิง
![](images/1737392346-1.jpg)
กรุงเทพฯ-ปิดฤดูกาล “กรุงเทพกลางแปลง” ปี 3 กทม. ขอบคุณชาวกรุง ร่วมชมเต็มงานตลอด 3 สัปดาห์ ปริ่มล้นด้วยความรักในภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน และอุตสาหกรรมบันเทิง
(20 ม.ค. 68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงภาพรวมของเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ปีที่ 3 หลังการฉายสัปดาห์ที่ 3 วันเสาร์ที่ 18 และอาทิตย์ที่ 19 มกราคม ณ อาคารบันเทิง สวนลุมพินี เขตปทุมวัน ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเทศกาลฯ ที่ส่งท้ายได้อย่างงดงามตราตรึงใจ ชาวกรุงให้ความสนใจร่วมเทศกาลมากมายตลอด 3 สัปดาห์ ตั้งแต่ 4 - 19 มกราคม 2568
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สัปดาห์สุดท้ายของเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง วันเสาร์ สาดแสงบนจอด้วย “ดอยบอย” หนังที่เล่าเรื่องชีวิตไร้ทางเลือกของหนุ่มชายขอบที่ค้าบริการ ชีวิตที่ถูกบังคับให้เลือกอย่างไม่มีทางเลือก ต่อด้วยวันอาทิตย์ กับเรื่อง "ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง" หนังที่เล่าประเด็นความรักของ ญ-ญ ชาวมุสลิม ซึ่งคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ปูซาน และยังเป็นการเลือกภาพยนตร์มาฉายได้สอดรับกับวันที่ 23 ม.ค. ที่จะถึงนี้ วันที่กฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” จะบังคับใช้วันแรก กรุงเทพกลางแปลง จึงจัดโปรแกรมฉายหนังเพื่อร่วมเฉลิมฉลองความหลากหลายนี้ร่วมกัน
โดยในวันสุดท้ายนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แวะไปเยือนบรรยากาศกรุงเทพกลางแปลง โดยบอกเล่าความรู้สึกว่า ใครจะคิดว่าจะได้มาดูหนังกลางแปลงที่สวนกลางเมืองซึ่งรายรอบด้วยวิวมูลค่าหมื่นล้านของตึกสูงโดยรอบ และยังฉายหนังที่มีเรื่องราวเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความภาคภูมิใจครั้งใหญ่ของเพศหลากหลายในไทย
อีกมิติใหม่ของกรุงเทพกลางแปลงในครั้งนี้ คือการร่วมขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเชิญชวนชวนให้คนมางานร่วมลดขยะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยนำภาชนะอาหาร เครื่องดื่ม มาใส่ภายในงานแบบไม่สร้างขยะ และยังได้รับการสนับสนุนจาก ECOCREW โดยร้านขายอาหารภายในงานจะมีบริการภาชนะให้ยืมฟรี (ราคา 10 บาทต่อใบ และแลกเงินคืนได้ภายในคืนนั้นบริเวณรอบงาน) โดยในคืนเดียวของงานที่มีผู้เข้าร่วมหลักพัน ลดขยะภาชนะพลาสติกได้กว่า 3,500 ชิ้น จากความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นหมุดหมายสำคัญที่กรุงเทพมหานครจะขยายแรงกระเพื่อมนี้ผสานในกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะจัดขึ้นต่อไป
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า เทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Colorful Bangkok และนโยบาย 12 เทศกาล 12 เดือน ของกรุงเทพมหานคร นอกจากจัดขึ้นเพื่อมอบความสุขแก่ชาวกรุงที่จะได้ดูหนังและคอนเสิร์ตฟรีในโลเคชันและบรรยากาศดี ๆ แล้ว ยังมีเป้าหมายสำคัญคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและอุตสาหกรรมบันเทิงในหลาย ๆ ด้าน โดยปีนี้ร้านอาหารที่มาร่วมออกบูทในงานขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หลายร้านขายหมดก่อนหนังฉาย ลามรอบไปถึงร้านค้านอกงานที่ขายดีไม่แพ้กัน รวมถึงสินค้าเฉพาะกลุ่มที่งานกรุงเทพกลางแปลงเปิดพื้นที่ให้ผู้ค้าพบปะแฟน ๆ และเพื่อนฝูงร่วมวงการ เช่น ตลาดนัดคนกองถ่าย รวมถึง บูทเวิร์กชอป ของตกแต่ง ของสะสม งานศิลปะ สินค้าทำมือ และออกแบบเอง มาให้เลือกหลากหลาย
ในด้านหัวใจของงานอย่างภาพยนตร์ที่นำมาฉาย ครั้งนี้ หอบความหลากหลายกันมาครบถ้วน อาทิ “สัปเหร่อ” หนังไทยที่สร้างปรากฏการณ์ในทุกมิติ “ทวิภพ” ภาพยนตร์พีเรียด - โมเดิร์น เรื่องแรก ๆ ของไทย เล่าเรื่องสยามสมัยรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 “RedLife” หนังเรื่องแรกที่ใช้ศูนย์ประสานงานถ่ายทำภาพยนตร์ (BFMCC) ของ กทม. ในการใช้สถานที่ถ่ายทำ เป็นต้น รวมถึงหนังสั้นเปิดหัวงานที่ไม่ซ้ำแนว และสำหรับคอนเสิร์ตที่เป็นอีก 1 ไฮไลต์ของงาน ได้ศิลปินคุณภาพและหลากหลายแนว ทั้ง Scrubb, Better Weather, Whal&Dolph, ละอองฟอง, พี่เจ Penguin Villa, AUTTA, SIN รวมถึงศิลปินอินดี้อย่าง ฉลามผู้สร้างสรรค์, วงสามัญชน, Once Dogs ที่ขยายขอบเขตการดูหนังฟังเพลงให้กับผู้ชมได้สัมผัสงานศิลปะของภาพและเสียงในแนวทางใหม่ ๆ
และด้วยหัวใจทั้งหมดที่มี กรุงเทพมหานครขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมแรงใจทำให้เกิด เทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” ครั้งนี้ขึ้นมาได้ ทั้ง สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย Thailand Creative Content Agency (THACCA) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจัดงานโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และความร่วมมือจากภาคเอกชน อาทิ Happening, พรชีวา เอ็นเตอร์เทนเม้นท์, Autopilot Entertainment, Play United Verse-XItur พันธุ์ทาง อาร์ตเวิร์ค และอีกมากมายที่เอ่ยนามไม่หมดในที่นี้
สำคัญที่สุด ขอบคุณทุกคนที่มาร่วมงานเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ให้งานศิลปะที่ศิลปินสรรค์สร้างถูกเติมเต็มด้วยผู้ชม นับตั้งแต่กรุงเทพกลางแปลงครั้งที่หนี่ง จนถึงครั้งที่สาม และจนกว่าครั้งที่จะพบกันใหม่