In Bangkok

กทม.ขึ้น'อันดับ2เมืองดีที่สุดในโลก'บูมต่อ ร่วมภาคีเครือข่ายรุก'50ย่านสร้างสรรค์'



กรุงเทพฯ-กทม. ยินดี อันดับ 2 เมืองดีที่สุดในโลก จับมือภาคีเครือข่าย เดินหน้า “50 ย่านสร้างสรรค์” กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนทั่วถึงยั่งยืน  

(21 ม.ค. 68) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีและกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 โครงการพัฒนาย่านสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ห้องบางกอก ชั้น B2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน เมือง และประเทศชาติ การส่งเสริมพัฒนาย่านให้มีอัตลักษณ์เฉพาะ จะทำให้ย่านนั้นมีเสน่ห์และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การพัฒนาย่านสร้างสรรค์ (Creative District) ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะคนที่เป็นเจ้าของย่านตัวจริง ไม่ใช่ กทม. แต่คือคนในพื้นที่ คนในชุมชน ที่จะต้องพัฒนาบ้านของตนเองโดยร่วมมือกับภาคเอกชน 

หัวใจของนโยบายย่านสร้างสรรค์นี้ แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องเงินที่จำนวนน้อยมากเพียง 200,000 กว่าบาทต่อชุมชน แต่เป็นเรื่องของสารตั้งต้นที่จะให้คนในชุมชนได้พูดคุยประสานงานกับสำนักงานเขต ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อร่วมพัฒนาย่านให้ยั่งยืน เข้มแข็ง และเป็นเศรษฐกิจของประชาชนในชุมชนอย่างแท้จริง โดยมี กทม. คอยให้การสนับสนุน 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บรรณาธิการนิตยสาร Time Out ได้โหวตและคัดเลือกสถานที่จากทั่วโลก พบว่า ปี 2023 ย่านทรงวาดติดอันดับที่ 39 จาก 40 ย่านสุดคูลของโลก ปี 2024 ถนนบรรทัดทอง ติดอันดับ 14 จาก 30 ถนนที่ "คูล" ที่สุดในโลกและปี 2025 กรุงเทพฯ คืออันดับที่ 2 จาก 50 เมืองที่ดีที่สุดในโลก

การจัดกิจกรรมฯ ในวันนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเขตพื้นที่กับภาคีเครือข่ายที่มีแนวคิดในการพัฒนาย่านให้มีทิศทางเดียวกัน สอดรับตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการ "ดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ" โดยอาศัย 3 ส่วน ในการขับเคลื่อน ประกอบด้วย 1. Hardware การพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึง การรับรู้ ภูมิทัศน์ถนน อาคาร สิ่งแวดล้อมทีมีคุณภาพ 2. Software การส่งเสริมและผลักดันต้นทุนทางมรดกวัฒนธรรม ขับเน้นอัตลักษณ์ ผู้คน ชุมชน อาชีพ กิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ ประเพณีวัฒนธรรม เทศกาล และ 3. Orgware การสร้างและขับเคลื่อน คณะกรรมการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (ดูแลกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สร้างความร่วมมือภาคี รัฐ เอกชน ประชาชน) 

ทั้งนี้ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กำหนดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 ตามโครงการพัฒนาย่านสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ ทิศทางการพัฒนาส่งเสริมย่านสร้างสรรค์ในกรุงเทพมหานคร ให้เป็นย่านที่มีอัตลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือนให้เกิดความประทับใจ กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 210 คน จากฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงผู้นำชุมชน 50 เขต 

พิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ผู้บริหารสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว รศ.ดร.พีรดร แก้วลาย วิทยากร ร่วมพิธี