In Thailand
สสจ.กาญจนบุรีออกให้ความรู้โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ-โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

กาญจนบุรี-ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ธีรพจน์ ฟักน้อย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า " ปัญหาโรคติดต่อที่เป็นโรคอุบัติใหม่/โรคอุบัติซ้ำ เป็นปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมาก เช่น การระบาดของโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ กาฬโรค และโรคฝีดาษวานร เป็นต้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม พฤติกรรมมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงภาวะโรคร้อนที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตมนุษย์ เศรษฐกิจ สังคมอย่างกว้างขวางและรุนแรง ดังนั้นการสร้างองค์ความรู้ทางสุขภาพ ที่เกิดขึ้นมาในระหว่างการระบาดของโรคต่างๆ นั้นมีคุณค่าอย่างยิ่งในการนำไปใช้ดูแลรักษา ควบคุมโรค และประยุกต์ให้กับโรคระบาดอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อบรรเทาความรุนแรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และการสูญเสียได้
อีกทั้งกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีจึงจัดรณรงค์ให้ความรู้การดูแลสุขภาพป้องกันโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งโรคอุบัติใหม่/ อุบัติซ้ำที่ทันต่อสถานการณ์ (ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ และฝีดาษวานร) โดยเฉพาะโรคฝีดาษวานรที่เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์กลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย อาทิเช่น เอชไอวี ซิฟิลิส หนองใน และโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นต้น โรคฝีดาษวานร หรือ Mpox เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae พบได้ในสัตว์หลายชนิดไม่ใช่แค่ลิง พบได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก หนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นต้น โรคนี้กำลังถูกจับตามองในช่วงนี้เนื่องจากมีการระบาดของสายพันธุ์ใหม่ในแถบประเทศแอฟริกา และในประเทศไทยก็ได้พบผู้ป่วยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดด้วย จึงควรเรียนรู้การป้องกันโรคฝีดาษวานร เพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง และป้องกันควบคุมโรคนี้ไม่ให้แพร่ระบาดในประเทศไทย ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองที่ผิวหนัง ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีตุ่มฝีตุ่มหนอง เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน โดยอาการและอาการแสดง ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการไข้ และผื่น จะเริ่มจากตุ่มแดง ประมาณ 5-7 วันหลังรับเชื้อ และตุ่มจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแห้งเป็นสะเก็ดจำนวนมากน้อยตามความรุนแรงของโรคและการตอบสนองของผู้ป่วย ขณะนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ ใช้การรักษาตามอาการ ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) โดยส่วนใหญ่เป็นในกลุ่มชายรักชาย (MSM) ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่างๆ ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ/ไขกระดูก และเด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี การมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นการสัมผัสใกล้ชิดรูปแบบหนึ่ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้าหรือเพิ่งรู้จักกัน งดการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก เพราะมีความเสี่ยงที่ไม่รู้ประวัติพฤติกรรมและการป่วยของคนนั้น คำแนะนำป้องกันโรค ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้มีผื่นสงสัยโรคฝีดาษวานร ไม่สัมผัส ตุ่ม หนอง สารคัดหลั่งร่างกาย หรือบาดแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือซากสัตว์ป่า และบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค และกรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ หากมีอาการสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
สนั่น-กรกนก ศิลปะขจร/กาญจนบุรี