In Environment
นักวิชาการออกโรงโฟสต์เฟสบุ๊คสนับสนุน 'ชิงเผา'ของอช.ทับลานยันทั่วโลกยอมรับ
ปราจีนบุรี-อ.ผู้สอน-ทำวิจัยไฟป่า ม.เกษตรศาสตร์ชี้ชิงเผาป่าหญ้าผาเม่น “ทับลาน” เป็นการเผาตามกำหนดคือศาสตร์ที่ทั่วโลกยอมรับ เพื่อควบคุมไฟป่ารุนแรง ลดความเสี่ยงจากไฟป่า รักษาโครงสร้างป่า สัตว์ป่าได้พื้นที่หาอาหาร ทุกกระบวนการต้องถูกวางแผนอย่างรอบคอบถูกกาลเทศะ ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่จนถึงการดูแลผลกระทบอย่าตัดสินด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน การจัดการไฟป่าไม่ใช่ "การเผาทิ้ง" แต่คือกลยุทธ์เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ยั่งยืน เพื่อป่า เพื่อสัตว์ และเพื่อเรา! ขอบคุณ จนท อช ทับลาน ที่ช่วยรักษาผืนป่ามรดกโลกเขาใหญ่-ดงพญาเย็น ให้กับชาวไทย
เมื่อเวลา 14.45 น.วันนี้ 24 ม.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ปราจีนบุรี ความคืบหน้ากรณี เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 อุทยานแห่งชาติทับลาน สถานีควบคุมไฟป่าปราจีนบุรี นำกำลังเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบมีการควบคุม (ชิงเผา) ในพื้นที่ผาเม่น พิกัด 47P 819299E 1566690N ท้องที่ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดีจังหวัดปราจีนบุรี สภาพพื้นที่เป็นทุ่งหญ้าคอมมิวนิสต์ร้าง ซึ่งเกิดจากการดำเนินคดีแล้วทำการตัดฟันไม้ยูคาลิปตัส,ยางพาราออกไปเมื่อหลายปีก่อน พิกัดอยู่ลึกเข้าไปเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ประมาณ 10 กิโลเมตร โดยลักษณะทุ่งหญ้าเป็นหย่อมๆ เนื้อที่รวมประมาณ 600 ไร่
ทั้งนี้การจัดการเชื้อเพลิงที่มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าเช่นนี้ ดำเนินตามหลักวิชาการโดยมีการแบ่งแปลงย่อยและทำการเผาทุ่งหญ้าแบบควบคุมได้ทีละแปลง รวมถึงได้เลือกห้วงระยะเวลาที่เหมาะสมนั่นคือเวลา 14.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณฝุ่นในชั้นบรรยากาศน้อย อากาศปลอดโปร่ง เป็นการลดเชื้อเพลิงไม่ให้เกิดไฟป่าขนาดใหญ่ที่ควบคุมไม่ได้และถือเป็นการเพิ่มปริมาณอาหารให้แก่สัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างป่าที่ออกไปทำความเดือดร้อนแก่ราษฎรในชุมชนท้องที่ตำบลทุ่งโพธิ์และตำบลแก่งดินสออำเภอนาดีจังหวัดปราจีน โดยใช้หลักการพยายามดึงดูดให้ช้างป่าเหล่านั้นกลับเข้าสู่เขตป่าธรรมชาติในลำดับต่อไป
ทั้งนี้ก่อนที่จะเข้าดำเนินการจัดการเชื้อเพลิงในวันดังกล่าว หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าปราจีนบุรีได้ทำการแจ้งข้อมูลเพื่อขออนุญาตจัดการเชื้อเพลิง ทางแอพพลิเคชั่น Burn Check และทำการส่งแบบฟอร์มเพื่อขออนุญาตตามขั้นตอนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นที่ดราม่าในสังคม ตามที่นำเสนอรายละเอียดไปแล้วก่อนหน้านี้ นั้น
คืบหน้าล่าสุด พบมีการโพสต์ในเฟสบุ๊คโดยผู้ใช้ชื่อ Kobsak Wanthongchai ระบุว่า กรณี การเผาตามกำหนด (Prescribed burning) หรือ การชิงเผา เพื่อลดความเสี่ยงของไฟ และ จัดการพืชอาหารสัตว์ป่า ที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ....."การจัดการที่ถูกต้องตามหลักการ แต่อาจไม่ถูกใจ สร้างความไม่สบายใจ ไม่ตอบสนองนโยบาย"
ผมในฐานะที่ สอนและทำวิจัยด้านไฟป่า ที่ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่าเรื่องดังกล่าว เป็นประเด็นที่ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และสังคมต้องเข้าใจถึงความอ่อนไหวของสังคมไทย แต่ก็ต้องรับทราบถึงข้อเท็จจริงด้านวิชาการไฟป่า การจัดการสัตว์ป่า ศาสตร์สากลที่ยอมรับและใช้กันทั่วโลก
ในประเด็นแรกที่ อช.ทับลาน ดำเนินการชิงเผา โดยหลักการ "ผม" ขอร่วมยืนยันกับ อช ทับลาน ในหลักการเผาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ครั้งนี้ คือเพื่อลดความเสี่ยงไฟป่ารุนแรง (หากไม่ทำอะไรเลยเมื่อไฟเกิดขึ้นในฤดูไฟก็จะมีไฟเกิดขึ้นมากมายหลายจุด กำลังคนแค่หยิบมือของ อช ทับลาน และ พท ใกล้เคียงไม่มีทางรับมืออยู่ และก็จะถูกผู้บังคับบัญชาและสังคมรุมจวกแน่นอน น่าเห็นใจครับ หรือใครมีทางออกอย่างไร?)
และการกรณีใช้ไฟเพื่อพืชอาหารสัตว์ป่าโดยการเผาทำให้เกิดหญ้าระบัด กำจัดโรคแมลงให้สัตว์ป่า มีการจัดการด้วยวิธีนี้อยู่แล้วตามหลักการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีสัตว์ป่าให้เราได้ชื่นชม โดยสัตว์ป่าต้องการป่าทึบๆ ไว้หลบภัย หลับนอน แต่ก็ต้องการป่าโปร่ง (ซึ่งไฟสามารถได้ช่วยในกรณีนี้)ไว้เป็นแหล่งหากิน แต่แน่นอนการเผาตามกำหนดย่อมมีผู้สูญเสียที่หนีไฟไม่ทันบ้างและผู้ได้ประโยชน์ฯ เราก็ควรต้องคำนึงและจัดการลดความเสี่ยงนี้ให้มากครับ (เช่น การเผาปลายเปิดให้สัตว์ป่ามีช่องทางหนีออกไป)
มีประเด็นที่ผมอาจขอท้วงติงและเสนอแนะในการดำเนินการครั้งนี้และครั้งต่อๆ ไปเพื่อให้ดียิ่งขึ้น คือ
1. การเผาขนาดพื้นที่ 600 ไร่ ในคราวเดียว ไฟอาจมีความรุนแรงหลุดลอดออกจากพื้นที่ควบคุมได้ และยิ่งหากเผาช่วงเที่ยงๆ ซึ่งความชื้นสัมพัทธ์ต่ำมาก อุณหภูมิสูงอาจมีโอกาสไฟหลุดกระเด็นออกไปนอกพื้นที่ จึงควรจะแบ่งแปลงจัดการย่อยๆ ทยอยเผา เพื่อลดความเสี่ยงไฟที่อาจลุกลามออกนอกพื้นที่จัดการ
2. กระบวนการสื่อสารกับทุกภาคส่วน (รวมทั้งการสื่อสารกับหน่วยงานต้นสังกัด) มีความสำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจให้เห็นถึงความสำคัญ จำเป็น วิธีการ แผนปฏิบัติการครั้งนี้ว่าแตกต่างกับการจุดไฟจาก "พวกที่แอบเผาป่า" อย่างไร ผมเชื่อมั่นว่า อช ทับลาน มีแผนฯ ในการจัดการเผาลดความเสี่ยงนี้อยู่ (เพราะไม่เช่นนั้นในฤดูไฟคงไม่ต้องหลับต้องนอนกัน) ซึ่งควรสื่อสารให้มากให้ทั่วถึง เพราะเข้าใจครับว่าปัจจุบันเราตระหนักเรื่องความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สังคมย่อมมีความกังวล ดังนั้น ต้องยอมเหนื่อย สื่อสารเยอะๆ บ่อยๆ
3. ห้วงเวลาของการเผาที่ขณะนี้เรา (คน กทม) กำลังเผชิญกับปัญหา PM 2.5 (วันนี้ PM 2.5 สูงมากๆ) บวกกับข่าวผลผลิตอ้อยเผาได้รับอนุญาตเข้าโรงงานได้ ก็อาจทำให้การเผาครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งประเด็นนี้ หาก อช ทับลานได้ตระหนักให้มากอีกสักนิดและประวิงเวลาการเผาตามกำหนดออกไปสักหน่อย (ซึ่งในระหว่างการประวิงเวลาก็ใช้โอกาสสื่อสารกับสังคมไปด้วย)
สำหรับประเด็นของสื่อสังคมออนไลน์ที่เม้นท์รุมกินโต๊ะ อช ทับลาน แบบสาดเสียเทเสีย (บางเม้นท์สะท้อนอะไรของคนพิมพ์ได้มากๆ) ผมเข้าใจในความรู้สึกรักและเป็นห่วงทรัพยากรป่าไม้ที่นับวันจะหดหายไปจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และยิ่งในขณะนี้คนเมืองกรุงกำลังเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 ก็คงเป็นธรรมดาที่พอได้เห็นข่าวในลักษณะที่ "จั่วหัวข่าวเรียกแขก" ของสื่อเมืองไทยแบบนี้ พวกท่านจึง "รู้สึกเดือดดาล" กับสิ่งหน่วยงานที่ต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติกลับทำออกมาเสียเอง แต่...ผมมั่นใจว่าพวกท่านอาจจะยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ทราบความจริงเพียงบางส่วน ไม่ทราบข้อเท็จจริงทางวิชาการไฟป่า ที่มี "การใช้ไฟจัดการระบบนิเวศ" เป็นเรื่องทั่วไปที่ทั่วโลกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการระบบนิเวศเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ กันไป
แต่....ก็ไม่ใช่ว่าใครนึกจะจุดไฟแล้วก็จุดไฟขึ้นมาได้นะครับ เพราะกว่าจะทำการจัดการพื้นที่ด้วยไฟได้จะต้องมีการเตรียมการต่างๆ อย่างรอบด้าน (ตั้งแต่ก่อนการเผา ระหว่างการเผา และภายหลังเสร็จการเผา) และมีกระบวนการสื่อสารกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่าไฟจะสามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกได้มากกว่าผลในเชิงลบและต้องได้รับการอนุมัติ และวันที่จะเผาหากสภาพปัจจัยเปลี่ยนแปลงการเผานั้นก็สามารถหยุด หรือ เลื่อนออกไปได้....
ผู้ปฏิบัติงานด้านการป่าไม้ทั้งไทยและเทศต่างทราบดีในบริบทของไฟทั้งในแง่ลบและแง่ดีผ่านการจัดการไฟด้วยการเผาตามกำหนด และทราบกันว่าไฟไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด ไฟมีข้อดีอยู่อีกไม่น้อย เราต้องเข้าใจบริบทของไฟทั้งสองด้านและรู้จักนำด้านดีของไฟเพื่อใช้ #จัดการป่าไม้ของไทยให้ถูกกาลเทศะ
สำหรับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ควรใช้โอกาสนี้สื่อสาร สร้างความเข้าใจให้สังคมทราบถึงบริบทของไฟให้มากกว่านี้ เราสื่อสารออกสู่สังคมกันไปเพียงว่า "ไฟมันชั่ว" "ไฟมันเลว" สังคมก็ได้ซึมซับแต่ความชั่ว ความเลวของไฟ โดยไม่มีโอกาสได้เห็นความดีหรือประโยชน์ที่ไฟมีต่อระบบนิเวศป่าไม้บางประเภทของไทย
โดยสรุป.....การเผาตามกำหนดคือศาสตร์ที่ทั่วโลกยอมรับ เพื่อควบคุมไฟป่ารุนแรง ลดความเสี่ยงจากไฟป่า รักษาโครงสร้างป่า สัตว์ป่าได้พื้นที่หาอาหาร ทุกกระบวนการต้องถูกวางแผนอย่างรอบคอบถูกกาลเทศะ ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่จนถึงการดูแลผลกระทบอย่าตัดสินด้วยความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน การจัดการไฟป่าไม่ใช่ "การเผาทิ้ง" แต่คือกลยุทธ์เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ยั่งยืน เพื่อป่า เพื่อสัตว์ และเพื่อเรา! ครับ ขอบคุณ จนท อช ทับลาน ที่ช่วยรักษาผืนป่ามรดกโลกเขาใหญ่-ดงพญาเย็น ให้กับชาวไทย ครับ
มานิตย์ สนับบุญ/ปราจีนบุรี