In Bangkok

กทม.รับมอบงานวิจัยม.ฮาร์วาร์ดพัฒนา ภูมิสถาปัตยกรรมชุมชนคลองเตย



กรุงเทพฯ-กทม.รับมอบงานวิจัย ม.ฮาร์วาร์ด พัฒนาภูมิสถาปัตยกรรมชุมชนคลองเตย เป็นต้นแบบ ต่อยอด ขยายผล ใช้กับชุมชนทั่วกรุงเทพฯ 

(25 ม.ค. 68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงาน "คลองเตยดีดี" (Better Khlongtoei) และรับมอบงานวิจัยด้านการพัฒนาภูมิสถาปัตยกรรมสำหรับชุมชนคลองเตย ณ แพทอารีน่า คลองเตย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ชุมชนคลองเตยเป็นชุมชนที่มีความสำคัญของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากพื้นที่คลองเตยมี 26 ชุมชนย่อย มีจำนวนประชากร 80,000 - 100,000 คน ที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานคร ดังนั้น การดูแลคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้จึงมีความสำคัญ ที่ผ่านมา กทม. อาจจะยังไม่มีการศึกษาวิจัยในเชิงลึกเท่านี้ วันนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เมืองไทยประกันภัย ร่วมกับ Harvard University Graduate School of Design (Harvard GSD) จัดกิจกรรมเผยแพร่งานวิจัยด้านการพัฒนาภูมิสถาปัตยกรรมสำหรับชุมชนคลองเตย ซึ่ง กทม. จะรับช่วงต่อโดยการนำไปใช้เป็นต้นแบบ ขยายผล เพื่อปรับใช้กับชุมชนในกรุงเทพฯ และนำมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ภายใต้การนำของนางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด จัดกิจกรรมเผยแพร่งานวิจัยด้านการพัฒนาภูมิสถาปัตยกรรมชุมชนคลองเตย ภายใต้แนวคิด "New Landscapes of Equity and Prosperity" หรีอ "ภูมิทัศน์ใหม่แห่งความเท่าเทียมและความเจริญรุ่งเรือง" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งต่อแนวคิดและงานวิจัยแก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนคลองเตยอย่างยั่งยืน โดยมี Mrs. Sarah M. Whiting คณบดี Dean and Josep Lluis Sert Professor of Architecture พร้อมด้วยคณาจารย์จาก Harvard GSD ผู้ร่วมงานจากภาครัฐและภาคประชาสังคม อาทิ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย นางเกศจริน สามิภักดิ์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย รวมถึงผู้แทนจาก 6 มหาวิทยาลัยชั้นนําของไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ร่วมงาน พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานมูลนิธิในพื้นที่คลองเตย และผู้นําชุมชนทั้ง 49 แห่ง 

ทั้งนี้ เมืองไทยประกันภัยได้ร่วมมือกับ Havard GSD ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ในการสำรวจและวิจัยเชิงลึกด้านภูมิสถาปัตยกรรมในพื้นที่ชุมชนคลองเตย ภายใต้แนวคิด "New Landscapes of Equity and Prosperity" ความร่วมมือนี้นับเป็นโอกาสสำคัญเพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนางานด้านสังคมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน สร้างความร่วมมือที่ครอบคลุมในการพัฒนาชุมชนและสังคมไทยให้ก้าวหน้าและยั่งยืนร่วมกัน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านความเท่าเทียมและความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งพื้นที่คลองเตยได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่สำหรับการทำงานวิจัยของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจาก Harvard GSD จากการลงพื้นที่วิจัยเชิงลึกในพื้นที่หลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก


จากการดำเนินโครงการในพื้นที่ชุนชนคลองเตย ได้เกิดงานวิจัยรวมทั้งสิ้น 2 ฉบับ กว่า 26 โครงการ ซึ่งสะท้อนแนวคิดและมุมมองในการพัฒนาพื้นที่ชุมชนคลองเตยอย่างรอบด้าน ครอบคลุมหลากหลายมิติ ได้แก่ "Bangkok Porous City (เมืองพรุน): New Landscape of Equity and Prosperity" และ "Bangkok Remade: บางกอก กอปรใหม่" โดยเน้นการแก้ไขปัญหาในหลากหลายประเด็น อาทิ การกระจายทรัพยากร การพัฒนาที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการและแยกขยะ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการสร้างพื้นที่สาธารณะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมสำหรับทุกคน

ในการนี้ เพื่อให้แนวคิดจากงานวิจัยเกิดผลเป็นรูปธรรม เมืองไทยประกันภัย และ Harvard GSD ยังได้นำบางส่วนของแนวคิดจากงานวิจัยไปปรับใช้ในพื้นที่จริง โดยมีตัวอย่างโครงการที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว ได้แก่  การปรับปรุงและสร้างลานเก็บขยะในชุมชนวัดคลองเตยใน 2 และ 3 เพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมและลดแหล่งสะสมของเชื้อโรค  การพัฒนาลานกีฬาอเนกประสงค์ในชุมชนวัดคลองเตยใน 3 เพื่อส่งเสริมสุขภาพด้านกีฬาให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชนได้ใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่า ห่างไกลจากปัญหายาเสพติด  และการปรับปรุงพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และร้านค้าชุมชนในชุมชนวัดคลองเตยใน 2 เพื่อสนับสนุนการสร้างพื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพ และเป็นศูนย์รวมกิจกรรมต่าง ๆ ของคนในชุมชน