Digitel Tech & AI

ส่อง...แนวโน้มพฤติกรรมคนไทยจับจ่าย ในเทศกาลตรุษจีน



กรุงเทพฯ-“ตรุษจีน” เป็นหนึ่งในเทศกาลที่คนไทยให้ความสำคัญ และเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากในรอบปี เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรเชื้อสายจีนจำนวนมาก ทำให้วัฒนธรรมจีนถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน การเลือกซื้อของไหว้เจ้า ของไหว้บรรพบุรุษ รวมถึงการแก้ชง มีส่วนสำคัญทำให้การจับจ่ายของผู้คนในสังคมช่วงนี้คึกคักเป็นพิเศษ เป็นโอกาสที่แบรนด์และธุรกิจสามารถสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภค และดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้จากการทำความเข้าใจใน “Customer Insight” ผ่านเทศกาลตรุษจีน

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการเลือกซื้ออาหารไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนของผู้บริโภคบนโซเชียลมีเดีย ผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social listening) ในช่วงวันที่ 1 -  20 มกราคม 2568 

ส่องแนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายเลือกซื้ออาหารไหว้เจ้า

จากการวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับแนวโน้มพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารไหว้เจ้าของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน พบว่า การโปรโมตหรือการประชาสัมพันธ์ของร้านค้า มีการนำเสนอสินค้ารูปแบบ “เซ็ตเมนู หรือ ชุดอาหาร” มากที่สุด แต่ผู้บริโภคกลับให้ความสนใจ “อาหารและขนมพร้อมทาน” มากกว่า โดยสามารถดึงดูดความสนใจจากความแปลกใหม่และหลากหลาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้ร้านค้าจะพยายามโปรโมตสินค้าที่เตรียมพร้อมแบบชุด อำนวยความสะดวกต่อการนำไปไหว้ แต่ผู้บริโภคยังคงมองหาความสะดวกสบายที่สุดในการเลือกซื้อสินค้าสำเร็จรูปอย่าง “อาหารพร้อมทาน” 

  • การประชาสัมพันธ์: 
    • เซ็ตเมนูหรือชุดอาหาร คือ ชุดไหว้มงคลคาวหวาน ที่จัดเป็นเซ็ตในรูปแบบต่าง ๆ เป็นสินค้าที่ร้านค้าทำการโปรโมตหรือประชาสัมพันธ์มากที่สุด (68%) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ร้านค้าตระหนักถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วในการจัดเตรียมอาหารในช่วงเทศกาล
    • อาหารและขนมพร้อมทาน คือ อาหารปรุงสำเร็จ และขนมที่จัดโปรโมชันในช่วงเทศกาลตรุษจีนได้รับการโปรโมตหรือประชาสัมพันธ์รองลงมาที่ 26% 
    • วัตถุดิบทำอาหาร คือ ของสดสำหรับนำไปประกอบอาหาร ได้รับการโปรโมทน้อยที่สุด (6%) ซึ่งอาจสะท้อนแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้หันไปเลือกซื้อสินค้าที่พร้อมใช้มากกว่าการทำอาหารเอง 

  • ผู้บริโภค (Engagement):
    • อาหารและขนมพร้อมทาน ได้รับความสนใจสูงสุดจากผู้บริโภค (63%) ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาความสะดวกในการไหว้เจ้าในรูปแบบที่พร้อมใช้
    • เซ็ตเมนูหรือชุดอาหาร ได้รับความสนใจรองลงมา (27%) ซึ่งแสดงว่าแม้จะได้รับการประชาสัมพันธ์จากร้านค้าอย่างหนัก แต่ผู้บริโภคอาจจะยังมองหาความสะดวกสบายและประหยัดเวลาจากอาหารที่พร้อมทาน
    • วัตถุดิบทำอาหาร มีการตอบสนองน้อยที่สุด (10%) ซึ่งบ่งบอกถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความง่ายและไม่อยากใช้เวลามากในการเตรียมอาหารในช่วงเทศกาล

ธุรกิจแก้ชงออนไลน์: ความเชื่อที่ปรับตัวสู่โลกดิจิทัล

นอกจากคนไทยเชื้อสายจีนให้ความสำคัญกับการไหว้เจ้า และไหว้บรรพบุรุษแล้ว ยังนิยมการทำบุญเสริมดวงชะตา โดยเฉพาะในปีที่เรียกว่า “ปีชง” ซึ่งเป็นความเชื่อทางโหราศาสตร์จีนว่าอาจมีผลกระทบต่อดวงชะตาของแต่ละคน การแก้ชงจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยการไหว้ "เทพไท้ส่วยเอี๊ย" ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยลดเคราะห์และเสริมมงคลให้ชีวิต เป็นธรรมเนียมสืบทอดกันมานานในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี

จากข้อมูลในโซเชียลมีเดีย พบว่า ปัจจุบันในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ประชาชนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจใช้บริการแก้ชงออนไลน์เพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จาก Engagement การแก้ชงผ่านช่องทางออนไลน์ มีสัดส่วนถึง 34% โดยมีธุรกิจและบริการเกิดใหม่ที่น่าสนใจ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมการทำบุญและการแก้ชงที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

  • แก้ชงออนไลน์ ตัวเลขมาจากโพสต์การรับบริจาค การรับจ้างบริการแก้ชง ทำบุญผ่านช่องทางออนไลน์ (30 Mentions, Engagements 4,805 ครั้ง)
  • แก้ชงที่วัด ตัวเลขมาจากโพสต์แนะนำสถานที่แก้ชง หรือวิธีแก้ชงแบบดั้งเดิมที่ต้องไปยังสถานที่จริง (379 Mentions, Engagements 9,510 ครั้ง)

ตัวอย่างธุรกิจและบริการแก้ชงออนไลน์ 

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการเติบโตของธุรกิจแก้ชงและทำบุญออนไลน์ ซึ่งมีการเปิดให้บริการแพลตฟอร์มทำบุญออนไลน์มากขึ้น โดยการร่วมมือกับวัดและศาลเจ้า

1.บริการทำบุญสร้างกุศล (แก้ชง) กับทางวัดโดยตรงผ่านระบบออนไลน์ ทาง LINE @lengnoeiyionline (เล่งเน่ยยี่ออนไลน์)

2.ศรัทธา.online: ธุรกิจให้บริการ รับขอพร แก้บน แก้ชงออนไลน์ ผ่าน Line Chatbot เพื่อตอบโจทย์ผู้มีจิตศรัทธาที่ไม่มีเวลาว่าง เดินทางลำบาก และรู้สึกกังวลใจ เมื่อพรที่ขอไว้เป็นจริงแต่ไม่ได้กลับไปแก้

3.บริการแก้ชงออนไลน์ผ่าน Zipevent : ผู้มีจิตศรัทธาสามารถเข้าร่วมทำพิธีผ่านทางออนไลน์ (Virtual Event) ณ ศาลเจ้าท่งเฮงตั๊ว ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยฝากดวงกับเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ย เพื่อสะเดาะเคราะห์ แก้ปีชง ให้แคล้วคลาดปลอดภัยกันถ้วนหน้า ซึ่งนอกจากจะแก้ชงแล้วก็ยังเป็นการเสริมดวงชะตา เสริมเฮง ต้อนรับปีใหม่อีกด้วย

สถานที่แก้ชงยอดนิยมในโซเชียล

1.วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.

2.วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี

3.ศาลเจ้าพ่อเสือ เขตพระนคร กทม.

4.วัดโพธิ์แมนคุณาราม เขตยานนาวา กทม.

5.วัดหัวลำโพง เขตบางรัก กทม.

ธุรกิจแก้ชงออนไลน์มีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ โดยไม่เพียงตอบโจทย์ความสะดวกสบายของผู้บริโภคยุคดิจิทัล แต่ยังสะท้อนถึงการปรับตัวของธุรกิจที่เชื่อมโยงประเพณีดั้งเดิมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว อีกทั้งความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการนำเสนอข่าวและคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับปีชงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การแก้ชงพัฒนาเป็นทั้งรูปแบบดั้งเดิมที่ผู้คนเดินทางไปวัดหรือศาลเจ้า และบริการออนไลน์ที่ช่วยให้การรักษาความเชื่อและประเพณีเป็นเรื่องง่ายและทันสมัยมากขึ้น