In Thailand
ผู้ว่าฯกาญจน์ ร่วมประชุมบกปภ.ช.ผ่าน ระบบZoom meetingแก้ปัญหาไฟป่า

กาญจนบุรี-ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจน์ พร้อมด้วย หน.ส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม (บกปภ.ช.)ผ่านระบบสื่ออีเล็กทรอนิกส์(Zoom meeting)เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันที่ 29 มกราคม 2568 ที่ห้องประชุมแควน้อย ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมเข้าประชุม กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom meeting) เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษา บกปภ.ช. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการฯ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ หน่วยงานราชการระดับกระทรวง กรม เหล่าทัพ เข้าร่วมประชุม
การประชุมครั้งนี้ นายอนุทิน ได้ติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมถึงการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งการเผาในที่โล่ง การลักลอบเผาป่า ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน และจังหวัดที่มีจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) สะสมสูงสุด 5 อันดับ คือ จ.กาญจนบุรี ชัยภูมิ ลพบุรี ตาก และจ.นครราชสีมา และรับฟังการคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์จากหน่วยงานพยากรณ์อากาศ แจ้งให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องร่วมปฏิบัติหน้าที่กับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อควบคุมการเผา สาเหตุหมอกควันและหาเครื่องจักร อุปกรณ์ นวัตกรรมใหม่ เข้าช่วยประชาชนกำจัดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและเปลี่ยนให้เป็นมูลค่า
นายอนุทิน กล่าวว่า “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยกับสถานการณ์ฝุ่นละอองนี้เป็นอันมาก พร้อมได้ติดตามและประสานงานเรียกประชุมหารืออยู่ตลอดเวลา และกรุณาสั่งการให้เชิญและแต่งตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา บกปภ.ช
วันนี้ บกปภ.ช. ทำงานในฐานะตัวแทนรัฐบาล ในการสั่งการทุกกระทรวง กรม โดยในระดับพื้นที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ ซึ่งมีเอกภาพในการบริหารจัดการจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามเผาเรียบร้อยแล้ว และได้ยกระดับการดำเนินทุกมาตรการอย่างเข้มข้น โดยใช้ระบบการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นอกเหนือจากอำนาจในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ การร่วมมือกันอย่างเต็มที่ จะทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเร็วที่สุด"
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าตอนนี้มูลเหตุของปัญหาอยู่ที่การเผา ดังนั้น เราต้องควบคุมไม่ให้มีการเผา ต้องจัดการในบ้านเราให้เรียบร้อยก่อน และถ้าหากว่าในประเทศเราไม่มีปัญหา แต่ยังมีสถานการณ์มาจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลก็จะต้องมีมาตรการลงโทษ (Sanctions) อาทิ ไม่รับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศที่ก่อปัญหา
นายอนุทิน เน้นย้ำว่า ให้ผู้ว่าฯ ใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติอย่างเต็มศักยภาพ ต้องตีเส้นแบ่งกรอบในแต่ละจังหวัด เพื่อบูรณาการความร่วมมือทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ภาครัฐ ภาคการเกษตร อสม. อาสาสมัคร และทุกภาคส่วน โดยในส่วนของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเด็ดขาดและควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน
ในช่วงท้ายการประชุม นายอนุทิน ได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการใน 6 มาตรการเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ได้แก่ 1.มาตรการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์อย่างทันท่วงที 2.มาตรการป้องกันปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเผาอย่างเด็ดขาด 3.ลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนให้มีน้อยที่สุด 4.มาตรการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเข้มข้น .5.มาตรการสนับสนุนงบประมาณ ด้วยการเร่งรัดกระบวนการพิจารณางบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่หน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนให้ทันต่อสถานการณ์ในการแก้ไขปัญหา และ 6.มาตรการขับเคลื่อนกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
สนั่น-ญาณภัทร์ ศิลปะขจร/กาญจนบุรี