Think In Truth

ย้อนรอย...'ไต้หวัน'จุดเริ่มต้นการระบาด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดย : ฅนข่าว2499



แก๊งคอลเซ็นเตอร์ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติที่เป็นภัยร้ายแรงและน่าจับตามองกรณีหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ที่การติดต่อสื่อสารในรูปแบบดิจิตอลเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทวีคูณ

จากรายงานวิจัยการศึกษา วิเคราะห์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในมิติกฎหมายของประเทศในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก,เหนือ – ใต้ (WEWC – NSEC – SEC) ที่มีเนื้อหาทั้งที่มาความหมาย ไปจนถึงบทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะสำหรับปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังนี้

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่หากินกับความตื่นกลัว ความโลภ และการสร้างความสันพันธ์อันดีกับเหยื่อหรือผู้เสียหาย ซึ่งเกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว โดยระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2550 โดยเหยื่อมักจะเป็นผู้สูงวัย ข้าราชการเกษียณที่มีเงินเก็บสะสม หรือผู้หญิงที่มักมีความตื่นกลัวกับการหลอกลวงหรือฉ้อฉลของคนร้าย

 

ภาพประกอบ : แก๊งคอลเซ็นเตอร์จากเฟซบุ๊กDrama-addict

คำว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือที่เรียกอีกอย่างว่าคดีคอลเซ็นเตอร์นั้น มิได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศแต่มีที่มาจากประเทศไต้หวัน โดยในตอนแรกไม่ได้ใช้คำว่าคอลเซ็นเตอร์ แต่ใช้คำว่า เอทีเอ็มเกมส์ (ATM Game) เป็นการสร้างกลโกงต่อประชาชนโดยการแอบอ้างแสดงตนเป็นผู้อื่น แล้วหลอกลวงให้เหยื่อเชื่อทางโทรศัพท์เพื่อให้เหยื่อไปที่ตู้ ATM และให้ทำการโอนเงินแก่คนร้าย โดยมีรูปแบบที่ใช้ในการหลอกลวงผู้เสียหายหรือเหยื่อใน 2 ลักษณะ คือหลอกลวงด้วยความโลภและหลอกลวงด้วยความกลัว ดังนี้

การหลอกลวงด้วยความโลภ เช่นการหลอกลวงผู้เสียหายว่าได้รับคืนภาษี VAT ถูกรางวัล ได้รับเช็คคืนภาษี ฯลฯ โดยอ้างว่าต้องจ่ายค่าบริการเบื้องต้น เป็นค่าบริการและธรรมเนียมต่าง ๆ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อเพราะความโลภอยากได้เงินหรือทรัพย์สิน ก็จะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของคนร้ายที่ได้เตรียมเปิดรองรับไว้

การหลอกลวงความกลัว เช่น จะหลอกลวงผู้เสียหายว่า เป็นหนี้ค่าโทรศัพท์ เป็นหนี้บัตรธนาคาร มีบัญชีธนาคารพัวพันกับยาเสพติด บัญชีธนาคารจะต้องถูกอายัดและถูกตรวจสอบโดยสำนักงาน ป.ป.ง. เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อจะทำธุรกรรมทางการเงินตามที่กลุ่มคนร้ายบอก เช่น นำบัตรเอทีเอ็มไปทำรายการที่ตู้ถอนเงินอัตโนมัติ ถอนเงินสดจากบัญชีธนาคารของตนเองเพื่อนำไปฝากเข้าบัญชีธนาคารที่กลุ่มคนร้ายเปิดรองรับไว้ ซึ่งในปัจจุบันลักษณะการหลอกลวงจะใช้ลักษณะทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวเป็นส่วนใหญ่

https://researchcafe.tsri.or.th/wp-content/uploads/2021/07/messageImage_1626996577376.jpg

ภายหลังจากชาวไต้หวันผู้คิดริเริ่มการหลอกหลอกลวงด้วย ATM Game มาประมาณ 10 ปีเศษ ต่อมาจึงได้ขยายสู่ต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และอีกหลาย ๆ ประเทศในแถบทวีปเอเชียซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยมีการขยายฐานตั้งศูนย์โทรศัพท์ Call Center ในต่างประเทศ เช่น จีน ไทย เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา ลาว ฯลฯ

ปัจจุบันมูลค่าความเสียหายทั่วโลกหลายพันล้านบาทต่อปี มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรชัดเจน มีการแบ่งหน้าที่กันทำ มีรายได้จากการหลอกลวงโดยแบ่งเปอร์เซ็นต์และมีเงินเดือนประจำ

นอกจากประเทศในเอเชียที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวแล้ว ประเทศไทยยังมีเหยื่อที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากยุโรปเข้ามาหลอกลวงในประเทศไทยอีกด้วย โดยอ้างตนว่าเป็นนายหน้า (โบรกเก้อร์) ให้เหยื่อร่วมลงทุนซื้อหุ้นที่เชื่อว่าสามารถทำกำไรได้อย่างงดงาม หรือให้เหยื่อหลงเชื่อว่าจะได้ทำการกุศลช่วยเหลือประเทศยากจน ไปจนถึงการหลอกลวงหญิงไทยผ่านการพูดคุยทางอีเมล์หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ให้เหยื่อใจอ่อนผ่านการสร้างความสัมพันธ์อันดี จนสุดท้ายเหยื่อก็ทำการโอนเงินให้คนร้าย เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีรูปแบบการหลอกลวงที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาตามแต่สถานการณ์ จากตอนแรกที่เริ่มจากโทรศัพท์ ปัจจุบันได้มีทั้งรูปแบบผ่านการแฟ๊กส์ การส่งเอสเอ็มเอส (SMS) การส่งอีเมล์ (E-mail) ไปจนถึงสื่อออนไลน์อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น เฟสบุ้ค ที่คนร้ายมักหลอกเหยื่อให้ตายใจ หรืออาศัยความรักของเหยื่อให้โอนเงินมาให้ตน

หลักจากทราบที่มาและรูปแบบการทำงานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว ในส่วนต่อไปนี้จึงจะขอยกตัวอย่างการจับกุมหรือการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่น่าสนใจและเป็นที่ติดตามของประชาชน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

การจัดตั้งศูนย์ป้องปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2553 หลังจากที่คอลเซ็นเตอร์เริ่มระบาดเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2550 ทำให้มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แถลงข่าวการประชุมร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ค่ายต่าง ๆ ตลอดจนสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องในเรื่อง “การฉ้อโกงด้านโครงข่ายใต้ดิน” โดยได้เห็นชอบให้จัดตั้ง “ศูนย์ให้บริการประชาชนเพื่อป้องกันการถูกหลอกโอนเงินที่ผ่านระบบออนไลน์” และในเบื้องต้นจะใช้ศูนย์ของกองบังคับการตำรวจการท่องเที่ยวเพื่อเป็นศูนย์ดำเนินการต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์

แก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้าง ปปง.

เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2554 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. แจ้งว่าขณะนี้มีเหยื่อที่ถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ปปง. ถึง 205 ราย ที่แจ้งเรื่องร้องเรียนมา และมีเหยื่อที่หลงเชื่อโอนเงินไปให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ถึง 56 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 15,000,000 บาท โดยมักใช้ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทยเป็นจุดถ่ายโอนเงิน

แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้เหยื่อร่วมลงทุนในหุ้นน้ำมัน

เดือนเมษายน พ.ศ. 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มคนร้ายอ้างว่าเปิดบริษัทร่วมลงทุนในหุ้นน้ำมัน และได้ทำการโทรศัพท์หลอกลวงชาวยุโรปให้เข้าร่วมลงทุนด้วย เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะให้โอนเงินมาให้และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวก็จะปิดบัญชีหนี ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมผู้ต้องหา 9 คน เป็นคนอังกฤษ แคนาดา และอเมริกัน ณ สำนักงานย่านสุขุมวิท โดยพบว่ามีเหยื่อที่ถูกหลอกลวงเป็นเงินกว่า 100,000,000 บาท ภายในระยะเวลา 2 ปี นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่แสดงถึงสามีของดารานางแบบชื่อดังร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้ด้วย

https://researchcafe.tsri.or.th/wp-content/uploads/2021/07/messageImage_1626996586061.jpg

ข้อเสนอแนะต่อกรณีอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์

กรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้ ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมข้ามชาติในลักษณะองค์กรที่ก่อให้เกิดความเสียไม่ว่าจะชาวไทย หรือชาวต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียเป็นจำนวนมหาศาล เป็นภัยคุกคามความเป็นส่วนตัวของผู้คน และมีแนวโน้มว่าจะมีพัฒนาการในการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ฉะนั้นในส่วนท้ายนี้จึงจะขอยกข้อเสนอของผู้วิจัย ว่ามีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกรณีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจข้ามชาติกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์นี้อย่างไรบ้าง โดยข้อเสนอแนะของผู้วิจัยแบ่งได้ออกเป็น 2 ด้านคือ ด้านการดำเนินการของรัฐ และด้านกฎหมาย มีรายละเอียดดังนี้

ด้านการดำเนินการของรัฐ สมควรจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจที่ดำเนินการเฉพาะคดีการล่อลวงผู้เสียหายด้วยวิธีโทรศัพท์หรือวิธีการที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน โดยมีการประชาสัมพันธ์หรือมีสายด่วนให้ประชาชนที่ถูกหลอกลวงโทรเข้ามา โดยเฉพาะผู้ที่กำลังถูกคนร้ายหลอกล่อว่าสิ่งนั้นเป็นความผิดหรือไม่ มีการประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ที่คนร้ายใช้บัญชีเพื่ออายัดเงิน และสุดท้ายคือแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา หรือการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับบรรดาประเทศที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามแดน

 

ด้านกฎหมาย โดยการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 โดยกำหนดรูปแบบและลักษณะการกระทำผิดในการล่อลวงผู้เสียหายด้วยวิธีโทรศัพท์หรือวิธีการที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันเป็นความผิดร้ายแรง ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ในส่วนของความผิดฐานฉ้อโกง การฉ้อโกงโดยแสดงเป็นผู้อื่น หรือการฉ้อโกงประชาชน ให้มีความผิดฐานฉ้อโกงในรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเป็นความผิดที่มีระวางโทษที่สูงให้เหมาะสมกับลักษณะการกระทำความผิด

อ้างอิงข้อมูลจาก : โครงการ “การศึกษา วิเคราะห์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในมิติกฎหมายของประเทศในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก – ตะวันตก, เหนือ – ใต้ (EWEC – NSEC – SEC)”

หัวหน้าโครงการ : รองศาสตราจารย์ ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล

สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)