In Bangkok
เตรียมเฮ‘เสาชิงช้าฟอนต์อัตลักษณ์กทม. กลายเป็นสินค้า-งานศิลปะที่คนกรุงปลื้ม!
กรุงเทพฯ-เตรียมเฮ ‘เสาชิงช้า (Sao Chingcha)’ ฟอนต์อัตลักษณ์ กรุงเทพฯ กลายเป็นสินค้า และงานศิลปะ ให้คนกรุงฯ ภาคภูมิใจ
(3 ก.พ.68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 อัตลักษณ์องค์กร (Corporate Identity: CI) ของกรุงเทพมหานคร และการออกแบบฟอนต์ของเมืองหลวงประเทศไทย ที่ชื่อว่า "เสาชิงช้า” ซึ่งเป็นฟอนต์ที่ผสมผสานระหว่างอนาคตและอดีตของเมืองหลวงได้อย่างดี กลายเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของผู้คนทั่วไป ซึ่งงานออกแบบอัตลักษณ์ดังกล่าวมาจากทีม ‘Farmgroup’ ที่ร่วมออกแบบกับกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เมืองหลวงแห่งนี้ก็มีระบบอัตลักษณ์ที่ใช้งานได้จริง
ล่าสุด กรุงเทพมหานครได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้สิทธิเอกชนใช้อัตลักษณ์กรุงเทพมหานคร (BMA Identity) ในการผลิตสินค้าเพื่อขายแล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. ผู้ได้รับสิทธิ ต้องเสนอรูปแบบสินค้า วัสดุในการผลิตสินค้า รวมถึงเสนอค่าให้สิทธิและค่าตอบแทนรายปี หรือรายสินค้าแล้วแต่กรณี ให้กรุงเทพมหานครพิจารณา 2. ผู้ได้รับสิทธิ ต้องเสนอแผน ขั้นตอนการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการ ให้กรุงเทพมหานครพิจารณา 3. ผู้ได้รับสิทธิ ต้องเป็นผู้ลงทุนในการผลิตสินค้าทุกรายการตามที่ระบุในสัญญา 4. กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการประเมินผลการดำเนินงานทุก 6 เดือนตลอดอายุสัญญา โดยกรุงเทพมหานครขอสงวนสิทธิที่จะยกเลิกการอนุญาตได้ ซึ่งผู้ได้รับสิทธิ ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากกรุงเทพมหานคร
5. ผู้ได้รับสิทธิ จะต้องชำระค่าให้สิทธิและค่าตอบแทนรายปีหรือรายสินค้าแล้วแต่กรณี ให้กรุงเทพมหานครตามจำนวนที่ระบุในสัญญาตลอดอายุสัญญา 6. กรุงเทพมหานครขอสงวนสิทธิที่จะยกเลิกการอนุญาตได้ หากผู้ได้รับสิทธิ กระทำการฝ่าฝืนเงื่อนไขการอนุญาต และจะไม่ใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นลักษณะการให้ใช้สิทธิในการผลิตและจำหน่ายแบบหลายราย ไม่จำกัดเฉพาะรายเดียว (Non – Exclusive License) ซึ่งเอกชนรายแรกที่กรุงเทพมหานครเห็นชอบให้สิทธิใช้อัตลักษณ์กรุงเทพมหานคร (BMA Identity) ในการผลิตสินค้าเพื่อขาย คือ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด (สยามดิสคัฟเวอรี) ในการจัดกิจกรรมร่วมกับ “YUEDPAO” ให้ลูกค้าที่สนใจเข้ามาเลือกฟอนต์เสาชิงช้าที่เป็น CI ของกรุงเทพมหานคร ไปออกแบบเสื้อยืดในแบบ customized ของตนเอง โดยสยามพิวรรธน์ได้จ่ายค่าตอบแทนให้กับกรุงเทพมหานครตามที่ตกลงกันในสัญญาให้สิทธิฯ รายได้ในส่วนนี้จะอยู่ในหมวดรายได้จากทรัพย์สินเพราะถือว่าอัตลักษณ์กรุงเทพมหานคร เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ กทม. ซึ่งกรุงเทพมหานครจะนำรายได้ในส่วนนี้ไปพัฒนาเมืองในด้านต่าง ๆ ต่อไป นอกจากนี้จะมีการนำหลักเกณฑ์นี้มาร่วมกับแผนกิจกรรมที่มีการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ (Campaign) ของผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร ผลิตภัณฑ์จากโครงการพัฒนาสินค้าและบริการ Made in Bangkok หรือ MIB ทำหน้าที่สื่อสารกับบุคคลทั่วไปถึงอัตลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร อีกด้วย
ที่ผ่านมา บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ได้มีหนังสือขอสิทธิในการใช้ฟอนต์เสาชิงช้าในการผลิตสินค้า วัตถุประสงค์เพื่อสร้าง New Global Destination และสร้างสรรค์ New Bangkok Souvenir หรือ ของที่ระลึกของกรุงเทพมหานคร สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยมีการขอสิทธิ นำฟอนต์ “เสาชิงช้า” (Sao Chingcha) มาต่อยอดทำจุดถ่ายรูปเพิ่มเติมที่พื้นทางเดินยกระดับสี่แยกปทุมวัน (Skywalk) ตกแต่งเพิ่มเติมบริเวณทางเข้าตึกสยามดิสคัฟเวอรี่เชื่อมจาก Skywalk และ ผลิตป๊อปอัพสินค้าแบรนด์ไทยโดยใช้ฟอนต์ “เสาชิงช้า” คล้ายสัญลักษณ์ที่เป็นอัตลักษณ์จากอเมริกาอย่าง ‘I ❤️ NY’ ที่ผู้คนทั่วไปสามารถเอาไปต่อยอดทำประโยชน์ทั้งงานส่วนตัวและงานเชิงพาณิชย์ หรือนำมาต่อยอดการผลิตลายเสื้อ ลายกระเป๋า และอื่น ๆ โดยบริษัทฯ ยินดีจะสนับสนุนการนำฟอนต์เสาชิงช้าของกรุงเทพมหานครมาใช้กับกิจกรรมของศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์ ในระยะเวลา 1 ปี