Digitel Tech & AI
TCIจัดยิ่งใหญ่ประชุมวิชาการเครือข่าย พัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย'15
กรุงเทพฯ-(4 กุมภาพันธ์ 2568): ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai-Journal Citation Index (TCI) Centre) หรือศูนย์ TCI โดยการสนับสนุนงบประมาณและความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ร่วมกันจัดการประชุมใหญ่ประจำปีหัวข้อ “การประชุมวิชาการเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทยครั้งที่ 15”โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) และ ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)และวิทยากรจากต่างประเทศได้รับเกียรติจาก Prof. Richard Whatmore จาก University of St Andrews, United Kingdom ซึ่งเป็น Scopus CSAB Subject Chair ตลอดจนมีวิทยากรจากศูนย์ TCI พันธมิตรต่าง ๆ ได้แก่บรรณาธิการและกองบรรณาธิการวารสารไทยที่อยู่ในฐานข้อมูล TCI และฐาน Scopus ผู้แทนหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการวิจัย เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้เกียรติเปิดการประชุมและ บรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทศวรรษหน้า” โดยกล่าวว่า การเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในสาขาวิชาต่างๆ โดยการตีพิมพ์ในวารสารเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนมุ่งยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหลังการจัดตั้งศูนย์ TCI จะเห็นได้ชัดเจนว่า วารสารไทยมีการพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการบริหารจัดการ และด้านจริยธรรมจรรยาบรรณ นอกจากนี้ การพัฒนาและบำรุงรักษาฐานข้อมูล TCI เพื่อการจัดเก็บและเผยแพร่ผลงานวิจัยของประเทศไทยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องนั้น โดยมี เนคเทคสวทช. ที่เข้ามาช่วยดูแลระบบและนำเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งนำเครื่องมือที่ทันสมัยมาช่วยงานของบรรณาธิการวารสารไทยหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพของวารสารไทยให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักวิจัย มหาวิทยาลัย และหน่วยงานทางด้านการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย ถือเป็นความสำเร็จของศูนย์ TCI ของ สกสว. และของประเทศไทย”
ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)กล่าวว่า สกสว. ในฐานะองค์กรกลางที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทย ซึ่งเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยเหตุนี้ สกสว. จึงได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Center: TCI) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูล TCI สำหรับจัดเก็บและสืบค้นองค์ความรู้จากบทความวารสารไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า และพัฒนางานวิจัยของประเทศ
นอกจากนี้ สกสว. ยังให้การสนับสนุนศูนย์ TCI ในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยบรรณาธิการวารสาร เช่น ระบบ ThaiJO, ThaiES และ ThaiRAP รวมถึงดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพวารสารไทย ทั้งในด้านการบริหารจัดการและด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณ เพื่อให้วารสารไทยและบรรณาธิการมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ที่ผ่านมาศูนย์ TCI ได้ผลักดันให้วารสารไทยหลายฉบับก้าวสู่เวทีนานาชาติ และในอนาคต สกสว. จะยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพวารสารไทยให้ทัดเทียมระดับสากลต่อไป
ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช.โดย เนคเทค ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวง อว.เข้ามาสนับสนุนโดยพัฒนาระบบ ThaiRAP สามารถวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทยได้ทั้งในระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน/มหาวิทยาลัย และระดับบุคคล โดยมีดัชนีชี้วัด (Metric) ที่หลากหลาย เช่น จำนวนผลงานตีพิมพ์ในแต่ละปี จำนวนผู้แต่ง สาขาวิชาที่มีการตีพิมพ์ คำสำคัญที่แสดงเนื้อหาบทความ จำนวนการอ้างอิงโดยรวม จำนวนการอ้างอิงต่อบทความ และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงาน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบ ThaiRAPจะทำหน้าที่มาวิเคราะห์ชิ้นงานตีพิมพ์ของประเทศ เหมือนกับระบบ SciVal ในระดับสากล และทำให้ไทยเป็นประเทศแรกของโลก ที่มีระบบช่วยการวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยระดับชาติ เทียบเคียงนานาชาติซี่งเป็นข้อดีคือทำให้ระบบนิเวศวิจัยของไทยดีขึ้น เพราะการมีระบบดังกล่าว จะเป็นฐานข้อมูลหลักที่ทำให้ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ให้ทุนเห็นฐานข้อมูลเดียวกันและสามารถให้การสนับสนุนให้นักวิจัยไทยมุ่งเป้ามาทำงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของประชาชนและความต้องการของสังคมมากยิ่งขึ้น
ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย กล่าวว่า การประชุมวิชาการเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพวารสารวิชาการไทยครั้งที่ 15”มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ นโยบายการสนับสนุนศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทยในการพัฒนาคุณภาพวารสาร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มคุณภาพของวารสารไทยจากการประเมินคุณภาพวารสารในฐานข้อมูล TCI นำเสนอผลลัพธ์และจุดยืนของวารสารไทยในเวทีโลก จริยธรรมและจรรยาบรรณของวารสารไทย ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะในการยกระดับคุณภาพวารสารไทยที่บรรจุอยู่ในฐานข้อมูล Scopus ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการยกระดับคุณภาพวารสารไทย รวมทั้งการเปิดตัวเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทย
ทั้งนี้ TCI ได้นำเสนอและพัฒนาระบบที่ชื่อว่าระบบวิเคราะห์สมรรถนะการวิจัยของประเทศไทย” Thailand Research Analysis and Performance: ThaiRAP เพื่อเป็นช่องทางและเครื่องมือสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายการวิจัยของประเทศ เช่น แหล่งทุน หรือ ผู้บริหารหน่วยงานระดับมหาวิทยาลัย หน่วยงานทุนวิจัย รวมถึงตัวนักวิจัย สามารถใช้ระบบ ThaiRAP ในการวิเคราะห์ข้อมูลผลงานวิจัย ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยและหน่วยงานวิจัย สถานการณ์และภาพรวมของการวิจัย เพื่อการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานหรือของประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศไทยต่อไป