In News
กทม.กวดขันการเผาในที่โล่ง-เฝ้าระวัง จุดความร้อนขอเกษตรกรงดเผาตอซังข้าว
กรุงเทพฯ-นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการขับเคลื่อนมาตรการเชิงรุก เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า กทม. ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้แต่งตั้งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปริมณฑลเป็นคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดมาตรการให้หน่วยงานดำเนินการรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาฟางข้าว ตอซัง และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทดแทนการเผา และติดตามและเฝ้าระวังจุดความร้อนจากการเผาในที่โล่ง/พื้นที่การเกษตรในกรุงเทพฯ และปริมณฑลบนเว็บไซต์ของ GISTDA และควบคุมแก้ไขปัญหาการเผา โดยประสานหน่วยงานรับผิดชอบหลักในพื้นที่เกิดเหตุเข้าระงับเหตุ และในช่วงวิกฤตให้กำกับ ควบคุม และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการห้ามการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วัชพืช หญ้า ขยะมูลฝอยทั้งในเขตชุมชน พื้นที่เกษตร พื้นที่ริมทาง เขตไหล่ทาง อีกทั้ง กทม. ได้มีหนังสือขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดข้างเคียงให้ควบคุมการเผาในพื้นที่และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังพบการเผาในที่โล่ง พื้นที่รกร้างที่ปล่อยปละละเลยให้ต้นไม้เกิดขึ้นในที่ดินของตนรกรุงรัง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายและเพลิงไหม้ จนเป็นเหตุเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้น เพื่อควบคุมการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สั่งการให้สำนักงานเขตออกประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยเฉพาะในพื้นที่ 12 เขต ที่ยังพบการเผาในที่โล่ง ได้แก่ หนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา ประเวศ มีนบุรี สะพานสูง บางเขน คันนายาว สายไหม บางขุนเทียน สวนหลวง และทวีวัฒนา และจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากการเผาในที่โล่งอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีมาตรการดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดกรณีพบผู้ฝ่าฝืน ส่วนพื้นที่เกษตรนาข้าว กทม. ได้สนับสนุนเกษตรกรเพื่อลดการเผา โดยให้บริการยืมเครื่องอัดฟาง 3 คัน และส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์หมักตอซังให้เน่าเปื่อย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมป้องกันการเกิดฝุ่น PM2.5 โดยหากพบเห็นการเผาในที่โล่งในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น รถควันดำ โรงงาน สถานประกอบการที่ก่อให้เกิดฝุ่น สามารถแจ้งข้อมูล หรือเบาะแสผ่านทางแอปพลิเคชัน Traffy Fondue หรือโทรศัพท์แจ้งสำนักงานเขตพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าระงับเหตุและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อไป
นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า สพส. ได้ประสานสำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพฯ กรมส่งเสริมการเกษตร สถานีพัฒนาที่ดิน กทม. กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร สภาเกษตรกร กทม. สำนักงานเขต ภาคเอกชน และเกษตรกร ดำเนินการตามมาตรการลดการเผาในพื้นที่ทำการเกษตรในกรุงเทพฯ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมรถอัดฟางช่วยชาวนาลดการเผาตอซังและฟางข้าว โดยสนับสนุนรถแทรกเตอร์ชนิดขับเคลื่อน 4 ล้อ ขนาดไม่ต่ำกว่า 50 แรงม้า 3 คัน และเครื่องอัดฟาง 3 เครื่อง ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ทำนาในพื้นที่กรุงเทพฯ และหน่วยงานของรัฐ แสวงหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคเอกชนให้บริการรถอัดฟางในพื้นที่ยืมใช้ เพื่อทดแทนการเผาตอซังข้าว ช่วยลดการก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ การรับรองคุณภาพข้าวตามมาตรฐาน Bangkok G และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายข้าวจาก “แปลงนี้ไม่เผา” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนชาวนา ผู้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เผาตอซัง โดยประชาชนสามารถมีส่วนร่วมสนับสนุนซื้อข้าวที่มีคุณภาพมาบริโภค ช่วยส่งเสริมการไม่เผา โดยห่อบรรจุภัณฑ์ข้าวจะมีตราสัญลักษณ์มาตรฐาน Bangkok G และติดตราสัญลักษณ์ “แปลงนี้ไม่เผา” จำหน่ายที่ตลาดนัดเขต ตลาดนัดชุมชน Farmer Market เป็นต้น รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนหัวเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยย่อยสลายตอซังและฟางข้าวและส่งเสริมการไถกลบตอซัง
นอกจากนี้ ได้ร่วมกับ สสล. กทม. เฝ้าระวัง (Monitor) ติดตามจุดความร้อน (Hot spot) จาก NASA Firm information for Resource Management System ในพื้นที่เกษตร แบบ Real time หากพบว่ามีจุด Hot spot สพส. จะแจ้งสำนักงานเขตติดตามระงับเหตุและรายงานผลทันที ขณะเดียวกันสำนักงานเขตได้ประชาสัมพันธ์แจ้งข้อกฎหมาย กำชับไม่ให้มีการเผาอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนพบเห็นการเผาสามารถแจ้งผ่านช่องแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ได้ตลอด 24 ชม รวมทั้งลงพื้นที่ ให้ความรู้ อบรม ให้คำแนะนำ สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนและเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมความรู้การใช้ประโยชน์จากฟางข้าว (เป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ยหมัก ใช้คลุมแปลง แปรรูปเป็นกระถาง ทำเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด จำหน่ายฟางก้อน ฯลฯ) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเผา และส่งเสริมการไถกลบตอซัง
นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กล่าวว่า กทม. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากมลพิษทางอากาศประเภท PM 2.5 เพื่อเป็นกรอบแนวทาง การดำเนินการของหน่วยงานในสังกัด ตั้งแต่ระยะก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และระยะหลังเกิดภัย โดยบทบาทหน้าที่ของ สปภ. เป็นหน่วยสนับสนุนสำนักงานเขตในการควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะและการเผาในที่โล่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้สั่งการให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยเร่งรัดการออกระงับเหตุไฟไหม้หญ้า หรือการเผาชีวมวลต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และช่วยลดมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 พร้อมทั้งประสานสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบพื้นที่ รณรงค์เน้นย้ำสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือประชาชนงดเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก งดการเผาในที่โล่ง รณรงค์สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ รวมทั้งประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ท้องที่กวดขันจับกุมผู้ที่กระทำการเผาหญ้า หรือขยะ และลุกลามสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรืออาจเข้าข่ายเป็นความผิดมาตราอื่น ๆ ซึ่งมีโทษหนักกว่า ทั้งนี้ หากประชาชนพบเหตุไฟไหม้หญ้า กองขยะ หรือเหตุสาธารณภัย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง