Digitel Tech & AI

'ประเสริฐ'เปิดประชุม20หน่วยงานเตรียม จัดงานUNESCO Global Forum2025



กรุงเทพฯ-เมื่อเร็วๆนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดการประชุม “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ครั้งที่ 1/2568 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี ในฐานะรองประธานร่วม ตลอดจนคณะผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), กระทรวงการต่างประเทศ (กต.), สำนักงบประมาณ, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สดช.), บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (BDI) รวมถึง สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กรรมและเลขานุการร่วม ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการจัดการประชุมดังกล่าว เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุมได้มีการหารือถึงความคืบหน้าของการดำเนินงานในการจัดการประชุมดังกล่าว หลังจากที่ ประเทศไทย นำโดย กระทรวงดีอี, อว., และ ศธ. ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) โดยการประชุม “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion" นับเป็นการจัดครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ถือเป็นการตอกย้ำความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นผู้นำร่วมขับเคลื่อนจริยธรรม ในการยกระดับการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI ของโลก สู่การปฏิบัติจริง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือถึงทิศทางการดำเนินงานผ่าน คณะทำงานหลัก  2 ชุด ประกอบด้วย 

คณะกรรมการเพื่อเตรียมการจัดการประชุม ที่เข้ามาดูแลในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการจัดงานในภาพรวม พิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

และคณะกรรมการร่วมไทยและยูเนสโกด้านสารัตถะเพื่อเตรียมการจัดการประชุม (Program Committee) ที่จะเข้ามาดูแลในส่วนของเนื้อหาและรายละเอียดการประชุมที่จะเกิดขึ้น ตลอดงาน เพื่อให้การจัดประชุมครั้งนี้มีคุณภาพและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์มากที่สุด ที่สำคัญในที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ แต่งตั้ง 2 คณะอนุกรรมการสนับสนุนการจัดประชุมเพิ่มเติม  ได้แก่คณะอนุกรรมการด้านพิธีการและอำนวยการ และ คณะอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจร

พร้อมกันนี้ ยังร่วมหารือเกี่ยวกับ ประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพร่วมครั้งนี้ ทั้งในมุมของการยกระดับบทบาทของไทย ด้านจริยธรรม AI ในเวทีโลก การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย AI ของประเทศ ตลอดจนโอกาสในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านเวทีประชุมนานาชาติ  โดยมีกำหนดประชุมติดตามความคืบหน้าในการเตรียมงานอีกครั้ง ใน เดือนมีนาคม และ เดือนพฤษภาคม 2568 นี้ - ติดตามความเคลื่อนไหนของการประชุม UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025 ได้ที่เพจ ETDA Thailand