In Bangkok

สายไหมพาชมคัดแยกขยะ'แกรนด์พลีโน่' ขานรับไม่เทรวมและป้องกันฝุ่นจิ๋ว



กรุงเทพฯ-สายไหมพาชมคัดแยกขยะหมู่บ้านแกรนด์พลีโน่ขานรับไม่เทรวม ล้อมกรอบป้องกันฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้างหมู่บ้านลัดดารมย์ เล็งพลิกที่ว่างปั้นสวนสุขภาพ 25 ไร่ ริมถนนสุขาภิบาล 5 ตรวจสอบพื้นที่รกร้าง เร่งแก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะซอยจตุโชติ 6 และ 4 

(5 ก.พ. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสายไหม ประกอบด้วย 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ หมู่บ้านแกรนด์พลีโน่ พหลโยธิน-วัชรพล ซอยเพิ่มสิน 16 พื้นที่ 8 ไร่ มีประชากร 130 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารนำมาทิ้งในจุดรวบรวมหน้าหมู่บ้าน เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บนำไปทำปุ๋ยหมัก 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิลนำมาทิ้งในจุดรวบรวมหน้าหมู่บ้าน รอรถเวสท์บายเดลิเวอรี่เข้ามารับซื้อขยะรีไซเคิลบริเวณจุดรวบรวมเดือนละ 1 ครั้ง 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปนำมาทิ้งในจุดรวบรวมหน้าหมู่บ้าน เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บทุกวันพุธและวันศุกร์ 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตรายนำมาทิ้งในจุดรวบรวมหน้าหมู่บ้าน เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 4,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 190 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 25 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ชุมชนในการคัดแยกประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่ 

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างหมู่บ้านลัดดารมย์ วงแหวน-รามอินทรา 2 ซอยกาญจนาภิเษก 4 ดำเนินโครงการโดย บริษัท ควอลิตี้เฮาส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการก่อสร้างบ้านเดี่ยว ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน ประเภทสถานที่ก่อสร้าง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน 

พัฒนาสวน 15 นาที สวนสุขภาพ 25 ไร่ ถนนสุขาภิบาล 5 ซึ่งเจ้าของที่ดินมีความประสงค์ให้เขตฯ ใช้พื้นที่ในการสร้างประโยชน์แก่สาธารณะ โดยเขตฯ มีแนวคิดในการปรับปรุงพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิม ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ในรูปแบบทุ่งทานตะวัน ทุ่งดาวเรือง รวมถึงพัฒนาพื้นที่อีกส่วนหนึ่งเป็นสนามกีฬา ได้แก่ สนามฟุตบอล สนามตะกร้อ สนามบาสเกตบอล และสนามวอลเลย์บอล ส่วนพื้นที่ด้านหน้าติดถนน เจ้าของที่ดินจะจัดทำร้านกาแฟ ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 1 แห่ง คือสวนสายไหมสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ 14,000 ตารางเมตร สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสายไหมชุมชนวัชรพล 3 พื้นที่ 4,800 ตารางเมตร 2.สวนสายไหมวังอ้ายแป้ง พื้นที่ 400 ตารางเมตร 3.สวนสายไหม-ทางหลวง พื้นที่ 1,558 ตารางเมตร 4.สวนสายไหม-จิตภาวรรณ 1 ร่วมใจ (สวนเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567) พื้นที่ 800 ตารางเมตร 5.สวนสายไหม-เทพรักษ์ 1 พื้นที่ 400 ตารางเมตร 6.สวนสายไหมเธียรสวน กสบ. ร่วมใจพัฒนา (คลองสอง) พื้นที่ 2,200 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 7.สวนสายไหมชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 1 พื้นที่ 260 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 8.สวนสายไหมประตูกรุงเทพ พื้นที่ 200 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 9.สวนสุขภาพ 25 ไร่ ถนนสุขาภิบาล 5 พื้นที่ 26 ไร่ อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง 

ตรวจสอบพื้นที่รกร้างบริเวณซอยจตุโชติ 6 และการลักลอบทิ้งขยะบริเวณซอยจตุโชติ 4 พื้นที่ใต้ทางด่วน ซึ่งเป็นพื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย อยู่ติดกับพื้นที่เอกชน มีการลักลอบนำขยะมาทิ้ง จากการสำรวจในพื้นที่ประกอบกับได้รับแจ้งจากประชาชนผ่านระบบ Traffy Fondue  พบว่ามีพื้นที่รกร้างมีการลักลอบทิ้งขยะ 37 แห่ง ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ออกหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขล้อมรั้วโดยรอบ จัดเก็บขยะออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งตรวจสอบการใช้ประโยชน์จากที่ดิน หากไม่มีการใช้ประโยชน์หรือปล่อยไว้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า จะดำเนินการจัดเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ป้องกันการลักลอบนำเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างหรือขยะชิ้นใหญ่มาทิ้ง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดำเนินการตามหนังสือสั่งการของสำนักเทศกิจ ตามข้อกฎหมาย จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 2.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 3.พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อความปลอดภัยและเป็นระเบียบในพื้นที่ 

ในการนี้มี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายอภิชาต แสนมาโนช ผู้อำนวยการเขตสายไหม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสายไหม สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล