In Global
บทวิเคราะห์ : โลกต้องการพหุภาคี

การประชุมประจำปีของฟอรั่มเศรษฐกิจโลกปี 2025 ภายใต้หัวข้อ “ความร่วมมือเพื่อยุคอัจฉริยะ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 24 มกราคม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากภูมิภาคและวงการต่างๆ ทั่วโลกประมาณ 3,000 คน มีเป้าหมายจะสานต่อเจตนารมณ์แห่งความร่วมมือ เพื่อแสวงหาแนวทางที่ยั่งยืนและครอบคลุมในการแก้ไขปัญหาระดับโลก
ก่อนการประชุม มีการเผยแพร่รายงาน Global Cooperation Barometer 2025 ซึ่งเน้นถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นต่อความร่วมมือระดับโลกที่มั่นคงในยุคหลังสงครามเย็น นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่รายงาน Global Risks Report 2025 โดยย้ำว่า แนวทางแก้ไขปัญหาในลักษณะที่เป็นพหุภาคีเป็นแนวทางเดียวที่จะสามารถจัดการกับความเสี่ยงระดับโลกในอนาคตได้ ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ฟอรั่มเศรษฐกิจโลกได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือพหุภาคีมากขึ้น
ปีนี้ครบรอบ 80 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ลัทธิเอกภาคีนิยมและการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความขัดแย้งและความแตกแยกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ภูมิรัฐศาสตร์และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเกิดการเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบเชิงลบต่อความร่วมมือพหุภาคี เมื่อเผชิญกับความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น ทุกฝ่ายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักพหุภาคี เพื่อรับมือกับความท้าทายร่วมกัน ดำเนินความร่วมมือระดับโลกที่มีประสิทธิผล
เมื่อเดือนมกราคม 2021 นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกล่าวสุนทรพจน์ในฟอรัมเศรษฐกิจโลกโดยผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ว่า ปัญหาต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้มีความสลับซับซ้อน ทางออกคือ ต้องยึดมั่นในหลักแห่งความเป็นพหุภาคีและสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมวลมนุษยชาติ
จีนสนับสนุนให้ทุกประเทศร่วมกันกำหนดอนาคตของโลก เขียนกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ บริหารจัดการกิจการระดับโลก และให้แน่ใจว่า ผลลัพธ์จากการพัฒนานั้นต้องถูกแบ่งปันโดยทุกฝ่าย จีนหวังว่า ทุกฝ่ายจะยอมรับวิสัยทัศน์ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน รักษาและปฏิบัติตามหลักการพหุภาคี และส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาโลกด้วยจิตวิญญาณแห่งความสามัคคีระดับโลก
บทเรียนจากสงครามโลกทั้งสองครั้งแสดงให้เห็นว่า เกมที่ต้องมีแพ้-ชนะ (zero-sum game) และการเมืองที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่มีแต่จะนำไปสู่ความหายนะ ในขณะที่หลักการพหุภาคีและการแสวงหาความเที่ยงธรรมและความยุติธรรมจะปูทางสู่สันติภาพที่ยั่งยืน
ระเบียบระหว่างประเทศหลังสงคราม ซึ่งมีองค์การสหประชาชาติเป็นศูนย์กลางและมีรากฐานมาจากการเป็นพหุภาคี มีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเกิดสงคราม และส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของประเทศต่างๆ
การดำเนินการตามหลักพหุภาคีนั้น ประเทศต่างๆ ต้องรักษาระบบระหว่างประเทศที่มีองค์การสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง ระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และบรรทัดฐานขั้นพื้นฐานแห่งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ
จีนเป็นผู้พิทักษ์อำนาจและสถานะของสหประชาชาติอย่างมั่นคง โดยได้รับการยอมรับว่า เป็นเสาหลักสำคัญแห่งพหุภาคี
การพัฒนาโลกต้องอาศัยการสนับสนุนจากพหุภาคี การสนับสนุนและปฏิบัติตามหลักการพหุภาคี และการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายนั้นเป็นแนวทางสู่ความสำเร็จในการเปิดตัวโครงการสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ประเทศต่างๆ ที่เป็นผู้นำในการพัฒนาเศรษฐกิจควรช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
ระบบการค้าพหุภาคีที่มีองค์การการค้าโลกเป็นแกนหลักได้ส่งเสริมการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระดับโลก มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโต การกีดกันทางการค้าและการใช้นโยบายเอกภาคีในท้ายที่สุดจะส่งผลเสียต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องเสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคีและการเปิดกว้าง เพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่จะเกิดการแตกแยกทางการค้า ความมุ่งมั่นของจีนในการขยายการเปิดกว้างในระดับสูง การสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง การปกป้องระบบการค้าพหุภาคี และการส่งเสริมการเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระดับโลกนั้น ได้สร้างพลังบวกให้กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อทบทวนเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ รักษาอำนาจและสถานะของสหประชาชาติอย่างมั่นคง สนับสนุนโลกที่มีหลายขั้วอำนาจ ความเท่าเทียมและเป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์และครอบคลุมทั่วโลก สร้างรากฐานของสันติภาพและการพัฒนาโลกให้แข็งแกร่งผ่านความร่วมมือพหุภาคี เพื่อความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติในการก้าวสู่อนาคตที่สดใส