In Thailand
รมช.เกษตรฯเปิดงาน'เกษตรปลอดภัยฯ'
มหาสารคาม-รมช.มนัญญา เปิดงาน “เกษตรปลอดภัย ใส่ใจเกษตรกร สู้ภัยโรคลัมปี สกิน” จ.มหาสารคาม สร้างความมั่นใจผู้บริโภคทานเนื้อดื่มนมโคได้ พร้อมติดตามความก้าวหน้าโครงการตามนโยบายสำคัญ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นประธานพิธีเปิดงาน “เกษตรปลอดภัย ใส่ใจเกษตรกร สู้ภัยโรคลัมปี สกิน” ณ ศูนย์ธุรกิจสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.มหาสารคาม จำกัด ต.ท่าสองคอน อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม โดยมี นายธรรมนูญ แก้วคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นางวันเพ็ญ เศรษฐรักษา ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายพจน์พิรัชต์ เนียมจุ้ย รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์บริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม เกษตรกร และสมาชิกสหกรณ์ เข้าร่วม ว่า ตามที่ได้พบสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease : LSD) ในโค-กระบือ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร และสมาชิกสหกรณ์ โดย จ.มหาสารคาม ในพื้นที่ 13 อำเภอ มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ได้รับผลกระทบสัตว์ป่วยสะสม จำนวน 30,165 ตัว คิดเป็น 11.85% ของสัตว์ทั้งหมด ตายสะสม จำนวน 1,517 ตัว คิดเป็น 0.60% สัตว์ป่วยคงเหลือ 5,237 ตัว คิดเป็น 2.06% (ข้อมูล ณวันที่ 23 มิ.ย. 64) เกษตรกรมีความวิตกกังวลต่อการระบาดของโรคดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ตลอดจนได้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เพื่อควบคุม ป้องกัน และกำจัดโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการแสดงความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ดื่มนม ผลิตภัณฑ์นม และอาหารปลอดภัย รวมทั้งคลายความวิตกกังวลของพี่น้องเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดกิจกรรม “เกษตรปลอดภัย ใส่ใจเกษตรกร สู้ภัยโรคลัมปี สกิน” ในวันนี้ขึ้น พร้อมทั้งได้มอบยากำจัดแมลง จำนวน 300 แกลลอน และเสบียงอาหารสัตว์ 200 ฟ่อน (หญ้าแห้งแพงโกล่าอัดฟ่อน) มอบเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง สายพันธ์ุขอนแก่น 6 และเวชภัณฑ์ ให้แก่ตัวแทนสหกรณ์ เกษตรกรเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค และเพื่อสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ จังหวัดมหาสารคาม สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคลัมปี สกิน ตามมาตรการของกรมปศุสัตว์มาโดยตลอด และได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชนิดโรคลัมปี สกิน ในโค–กระบือ ประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 12 อำเภอ ตลอดจน อปท. ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนเวชภัณฑ์ ยากำจัดแมลง 81 แห่ง เป็นเงิน 5,341,665 บาท และ อบจ.เตรียมอนุมัติเงินสนับสนุนเงินสำหรับเวชภัณฑ์อีก 500,000 บาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยา บรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรที่เลี้ยงโค–กระบือ ในพื้นที่มหาสารคาม ต่อไป
โอกาสนี้ รมช.เกษตรฯ ได้ร่วมปรุงเมนูผลิตภัณฑ์ใหม่จากนมโค “ตังเมนมสด (NU GUT Takkasira)” ของแปลงใหญ่โคนม สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผล และแก้ไขปัญหาน้ำนมดิบล้นระบบ โดยนำน้ำนมดิบที่ได้จากแปลงใหญ่โคนมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างทางเลือกการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ขยายช่องทางตลาดใหม่ เป็นความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด ทั้งนี้ สมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด จากการระบาดของโรคลัมปี สกิน เบื้องต้นสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกไปแล้ว เช่น การให้ความรู้ด้านการป้องกัน ดูแลสุขภาพสัตว์ การสนับสนุนเวชภัณฑ์รักษาสัตว์ และจ่ายค่ารักษาให้ ตัวละ 100 บาท รมช.เกษตรฯ ยังได้มอบอุปกรณ์การตลาด ได้แก่ เครื่องตัดหญ้า จำนวน 70 เครื่อง ให้กับสหกรณ์การเกษตรเชียงยืน จำกัด และรถแทรคเตอร์พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วง ให้กับสหกรณ์การเกษตรนาเชือก จำกัด ตามโครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวมและการแปรรูปของสถาบันเกษตรกรรองรับผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งมอบใบรับรองมาตรฐานปลอดภัยจากสารพิษ (GAP) ให้แก่สมาชิกสหกรณ์โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร จำนวน 3 ราย และมอบใบรับรองมาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมดิบ (GAP,GFM) ให้กับตัวแทนฟาร์มโคนมสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมโคกก่อ จำกัด จากนั้นพบปะสมาชิกสหกรณ์และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ในโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ โครงการซุปเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพสังกัดสหกรณ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ รมช.มนัญญา ได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีโครงการที่สำคัญ อาทิ 1) โครงการปรับโครงสร้างการผลิต การรวบรวมและแปรรูปของสถาบันเกษตรกร รองรับผลผลิตทางการเกษตร มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ และได้รับเงินอุดหนุนดำเนินการ จำนวน 2 สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรเชียงยืน จำกัด และสหกรณ์การเกษตรนาเชือก จำกัด 2) โครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพเกษตรกร มีสหกรณ์สมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 12 สหกรณ์ สมาชิก 39 ราย และมีสมาชิกได้รับใบรับรองมาตรฐานปลอดภัยจากสารพิษ จำนวน 3 ราย 3) โครงการซุปเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ผู้ผลิตได้นำสินค้า ผลิตผลทางการเกษตรของสมาชิกมาจำหน่าย และการส่งเสริมการขายตลาดออนไลน์ กระจายถึงมือผู้บริโภคผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ จำนวน 3 สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรบรบือ จำกัด สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหนองบัวแปะ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.มหาสารคาม จำกัด และ 4) โครงการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ตามซุปเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ จำนวน 4 สหกรณ์ คือ สหกรณ์การเกษตรกันทรวิชัย จำกัด “ผลิตภัณฑ์โจ๊ก และข้าวสารบัววิชัย จากข้าวแปลงใหญ่” สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหนองบัวแปะ จำกัด “ผลิตภัณฑ์น้ำพริกนรก ข้าวหอมนิลจากข้าวแปลงใหญ่ ผักปลอดภัยจากสารพิษ” สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนตำบลแคน จำกัด “ผลิตภัณฑ์ปลาร้าบองลายแคน” สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนหนองแวงบกไผ่ล้อม จำกัด “ผลิตภัณฑ์ปลาร้าทรงเครื่องแจ่วกลองยาว” เป็นต้น ซึ่งแผนการดำเนินงานในอนาคต สำนักงานสหกรณ์จังหวัดมหาสารคาม มีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งส่งเสริมสินค้าให้มีใบรับรองมาตรฐานปลอดภัย มาตรฐานอาหารและยา เพิ่มช่องทางการตลาด และส่งเสริมอาชีพให้สมาชิกผลิตวัตถุดิบป้อนกลุ่มอาชีพผลิตสินค้าและแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน..
พิเชษฐ ยากรี - มหาสารคาม