In Environment
วช.จับมือทีอีไอชูความสำเร็จ'ปั้นนักวิจัย' ผลิตงานวิจัยรับแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อม
![](images/1739268461-1.jpg)
กรุงเทพฯ-11 กุมภาพันธ์ 2568 โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ - สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผนึกกำลัง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) สัมมนาเครือข่ายนักวิจัยสิ่งแวดล้อม “งานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม และรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ภายใต้ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระยะที่ 2” ชูความสำเร็จการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมก้าวสู่ความสำเร็จในการเสริมความเข้มแข็งนักวิจัยคุณภาพ โดยพร้อมพัฒนาการวิจัยที่จะมุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาในประเด็นสิ่งแวดล้อม พร้อมนำองค์ความรู้ผลิตการวิจัยรองรับแผนพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนตามยุทธศาตร์ชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงการมุ่งพัฒนานักวิจัยว่า “วช. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการทุนวิจัย ตามกรอบแผนงานสำคัญของประเทศ ได้ร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ในการจัดโครงการการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหลักสำคัญในการพัฒนานักวิจัยด้านทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ ผลิตงานวิจัยที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และความต้องการใช้ประโยชน์งานวิจัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตระหนักถึงการสร้างความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานให้แก่นักวิจัย ซึ่งช่วยให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน”
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “โครงการการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นโครงการสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยให้สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเสนอผลงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง เพื่อตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม และรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้มีการออกแบบหลักสูตร ประกอบด้วย 8 หลักสูตร ที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยและกระแสสิ่งแวดล้อมโลก และแผนพัฒนาประเทศไทยในระยะต่อไป โดยมุ่งสร้างความรู้และความเข้าใจด้านการวิจัย รวมถึงทิศทางการดำเนินการภายใต้กรอบการวิจัย ให้นักวิจัยสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงต่อการทำงานระยะต่อไป”
สำหรับ โครงการการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 จนสิ้นสุดเมื่อเดือนมกราคม 2568 จำนวน 8 หลักสูตร ประกอบด้วย การเขียนโครงการวิจัย และการนำงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปใช้ประโยชน์ การวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน การวิจัยด้านการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste) การวิจัยด้านมลพิษทางอากาศ และ PM2.5 การวิจัยมลพิษอุตสาหกรรมและนิเวศอุตสาหกรรม, การวิจัยด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก การวิจัยการจัดการทรัพยากรน้ำกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการวิจัยด้านการรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ" ซึ่งทั้ง 8 หลักสูตรเป็นการพัฒนาองค์ความรู้แก่นักวิจัย เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ในการทำงาน ให้เกิดความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม สามารถความเชื่อมโยงระหว่างประเด็น และออกแบบการวิจัยที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยมีผู้ผ่านหลักเกณฑ์การฝึกอบรมและได้รับใบประกาศนียบัตรกว่า 300 คน”
ทั้งนี้ การสัมมนาเครือข่ายนักวิจัยสิ่งแวดล้อม ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บรรยายพิเศษในหัวข้อการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ พร้อมด้วยเวทีเสวนาจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อที่เป็นประโยชน์กับบุคลากรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมในประเด็น “งานวิจัยมุ่งเป้า เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่” “การทำการวิจัยให้ตรงเป้ากับการไปใช้ประโยชน์” ที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทรัพยากรน้ำ (น้ำบาดาล) มลพิษทางอากาศ และPM2.5 ลดขยะให้เป็นศูนย์ Zero Waste และ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน การเสวนา “นักวิจัยพบผู้ตรวจสอบโครงการวิจัย” จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิ คาดว่าผู้สำเร็จหลักสูตรการวิจัยครั้งนี้จะสามารถนำความรู้ ความสามารถไปพัฒนาการเขียนโครงการวิจัยและได้โครงการวิจัยที่เป็นประโยชน์ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ต่อไป