In Bangkok
กทม.ยืนยันป้ายรถเมล์ทำถูกต้อง-โปร่งใส ยินดีหากผู้รับจ้างทำได้ถูกและเป็นของดี
![](images/1739303719-1.jpg)
กรุงเทพฯ-(11 ก.พ. 68) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง และผู้เกี่ยวข้อง พาลงพื้นที่ดูศาลาที่พักผู้โดยสาร (ป้ายรถเมล์) รูปแบบใหม่ ณ ศาลาที่พักผู้โดยสาร บริเวณ MRT สามยอด ถนนเจริญกรุง
ยืนยัน!! ดำเนินการถูกต้อง โปร่งใส ตามระเบียบราชการ
ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า ในการจัดหาและดำเนินการนั้นได้ทำตามขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการอย่างถูกต้อง ซึ่งได้มีการเปิดให้ผู้รับจ้างร่วมการแข่งขันและประกวดราคาอย่างโปร่งใส ทั้งนี้ ยังมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะประกวดราคาแบบเปิดกว้างด้วย อาทิ ผู้รับจ้างที่จะร่วมประมูลมีผลงานที่เคยทำมาในราคา 1 ล้านบาท และเคยทำงานกับภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจก็ได้ มีการประกาศการดำเนินการเปิดเผย หากมีผู้รับจ้างท่านใดที่สามารถดำเนินการได้ในคุณภาพที่ดี วัสดุราคาถูกกว่า และทำได้ในราคาถูกกว่า ก็ยินดีและขอเชิญชวนให้มาร่วมประกวดราคาในการดำเนินการ
สำหรับการคิดราคาในการดำเนินการได้อ้างอิงราคากลางของกระทรวงพาณิชย์และกรมบัญชีกลาง ซึ่งในการก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารเป็นการก่อสร้างบนทางเท้า ไม่ได้ทำในที่โล่ง อุปกรณ์ทั้งหมดมีฐานรากเพื่อความมั่นคงแข็งแรง ดังนั้นจึงมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของวัสดุ ค่าดำเนินการ อีกทั้งอุปกรณ์ทั้งหมดเป็นแบบน็อกดาวน์ ต้องผลิตและประกอบจากโรงงาน ต้องมีค่าขนส่งจากโรงงาน และในการขุดเพื่อติดตั้งก็ต้องมีการขนย้ายดิน รวมถึงมีการติดตั้งป้ายต่าง ๆ ในการดำเนินการด้วย นอกจากนี้ การเข้าทำงานจะเข้าได้ในช่วงเวลากลางคืน จึงต้องมีค่าแรงที่ทำงานในช่วงกลางคืน รวมถึงค่าสาธารณูปโภค การคืนพื้นผิวก็ต้องมีการปูกระเบื้องให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งราคาทั้งหมดเป็นไปตามวัสดุและการดำเนินการจริง ซึ่งเป็นการอิงราคาของทางราชการอย่างถูกต้องทุกขั้นตอน
ทำเอง ลดป้ายโฆษณา เพิ่มความสะดวกผู้พิการทางสายตาและผู้ใช้วีลแชร์
รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวถึงกรณีไม่ให้สิทธิ์เอกชนดำเนินการว่า เนื่องจากที่ผ่านมาในการให้เอกชนเข้าดำเนินการปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสารนั้น ไม่ได้เป็นการดำเนินการให้ฟรี แต่เป็นการดำเนินการแลกกับสิทธิ์สัมปทานค่าป้ายโฆษณาที่ติดตั้งแบบป้ายไอติมบริเวณศาลาที่พักผู้โดยสาร ซึ่งในปี 2563 เอกชนดำเนินการปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสารจำนวน 350 หลัง แลกกับสัมปทานค่าป้ายโฆษณาแบบไอติมจำนวน 1,170 ป้าย เป็นระยะเวลา 10 ปี ทำให้บางจุดป้ายโฆษณาดังกล่าวอาจบดบังการมองเห็นหรือไม่สะดวกสำหรับผู้พิการทางสายตาหรือผู้ใช้รถวีลแชร์ ดังนั้นจึงมองว่าหากไม่มีป้ายโฆษณาก็จะเพิ่มความสะดวกให้กับผู้พิการทางสายตาและผู้ใช้รถวีลแชร์ได้ กรุงเทพมหานครจึงได้มีการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการเอง เพื่อลดปริมาณป้ายโฆษณาที่อาจเพิ่มมากขึ้นในกรณีที่ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ
ทำในจุดเดิม ทดแทนเต็นท์หรือป้ายชั่วคราว ขนาดตามความเหมาะสมของพื้นที่
รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวด้วยว่า สำหรับในการจัดสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารหรือป้ายรถเมล์นั้น เป็นการดำเนินการทดแทนจุดที่มีอยู่แล้วที่มีสภาพเป็นเต็นท์หรือจุดหยุดรถชั่วคราว ซึ่งในจุดเหล่านี้มีบางจุดที่ทางเจ้าของอาคารไม่ยอมให้ทำการปรับปรุงเพราะเกรงว่าไปบดบังหน้าร้านหรือบ้านเรือน ก็ได้มีการเจรจาและทำความเข้าใจ ดังนั้น ศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่ ผนังด้านหลังจึงต้องทำเป็นแบบใสที่สามารถมองเห็นหน้าร้านได้ สำหรับการก่อสร้างศาลาที่พักผู้โดยสารที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้เป็นในส่วนของงบประมาณปี 2567 ส่วนงบประมาณปี 2568 ที่จะดำเนินการอีกประมาณ 300 หลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนด TOR และทำราคากลาง ขอเชิญชวนผู้รับจ้างมาร่วมเสนอแนะรายละเอียดในการดำเนินการได้ ซึ่งศาลาที่พักผู้โดยสารมี 2 ขนาด คือ ขนาด 2.3x3 เมตร แบบ 3 ที่นั่ง กับขนาด 2.3x6 เมตร แบบ 6 ที่นั่ง เนื่องจากว่าแต่ละจุดมีขนาดพื้นที่ไม่เท่ากันจึงต้องมี 2 ขนาดตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะดำเนินการ
ด้านโฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ กรณีมีการตั้งศาลาที่พักผู้โดยสารตรงพื้นที่สำหรับเบรลล์บล็อกสำหรับผู้พิการ สจส. กำลังปรับแก้ ยังไม่ได้มีการตรวจรับงาน เมื่อทราบเรื่อง สจส. ได้ไปตรวจสอบ เมื่อพบก็มีการปรับแก้ อยากให้สบายใจ กำลังดำเนินการแก้ไข และไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มเติม ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบ
ผู้อำนวยการ สจส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับศาลาที่พักผู้โดยสารรูปแบบใหม่จะมีสีที่เห็นได้ง่าย มีป้ายบอกอยู่ด้านบนให้รถเมล์เห็นได้ชัด ที่ผนังป้ายรถเมล์มีรายละเอียดบอกว่ามีรถเมล์สายอะไรผ่านบ้าง แต่ละสายมีต้นสายและปลายสายที่ไหน สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้า (BTS) และรถไฟใต้ดิน (MRT) ได้ที่ไหนบ้าง ที่นั่งมีความแข็งแรง มีพนักวางแขนเพื่อไม่ให้มีการใช้เป็นที่นอน มีที่ว่างสำหรับผู้ใช้รถวีลแชร์ มีไฟฟ้าส่องสว่าง นอกจากนี้ ผนังศาลาเป็นอะคริลิกใส สามารถกันแดดกันฝนได้ แต่ด้านข้างไม่มีที่กั้นเนื่องจากให้รถวีลแชร์สามารถผ่านได้ ซึ่งศาลาที่พักผู้โดยสารที่จะดำเนินการในงบประมาณปี 2568 จำนวนประมาณ 300 หลัง จะอยู่ในฝั่งพระนคร 200 หลัง และฝั่งธนบุรี 100 หลัง