In News

100ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน46ปีไทย-จีน



กรุงเทพฯ-วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ตรงกับวันครบรอบ “100 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและ 46 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน” ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน  ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไย-จีน  สมาคมการค้าการลงทุนเส้นทางสายไหมไทย-จีน สมาคมส่งเสริมวิสาหกิจเอเชียน-จีน สมาคมมิตรภาพไทย-จีน คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ และ The Leader Asia  ร่วมจัดสัมมนาหัวข้อ “100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์จีน และ 46 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน”  

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในงานสัมมนา ประกอบด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีไทย  นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย  นายกร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน  นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ประธานศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางสายไทย-จีน  สำนักงานวิจัยแห่งชาติ  ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล นายกสมาคมการค้าการลงทุนเส้นทางสายไหมไทย-จีน และนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “75 ปีพรรคการเมืองไทยท่ามกลางพลวัตเศรษฐกิจการเมืองโลก” โดยมีเนื้อหาสรุปคือ 100 ปีของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนถือว่ายาวนานมาก หากทบทวนประวัติศาสตร์ โลกใบนี้นับตั้งแต่ผ่านสงครามโลก ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ และโรคระบาด ท่ามกลางปัญหาต่างๆจนผ่านมาถึงวันนี้ โลก มีการพัฒนาการไปมาก และ 100 ปี ของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน อาจกล่าวว่าเป็นความสำเร็จ เป็นแบบอย่างที่มั่นคงซึ่งไม่มีพรรคการเมืองประเทศไหนเดินตามรอยได้

ที่สำคัญ 100 ปีแห่งความสำเร็จของพรรคคอมมิวนิสต์จีนผ่านเรื่องราวที่โลกจะต้องจดจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ความยากจน และไม่นานจีนจะยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ขณะเดียวกันบทบาทของจีนต่อโลกใบนี้กำลังถูกจับตามองจากเวทีโลกว่ามีศักยภาพในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว  นั่นคือความสำเร็จที่น่าชื่นชมในวันนี้และอนาคต

นายอภิสิทธิ์ ได้แสดงความคิดเห็นถึง ประเด็นหัวข้อ 75 ปีพรรคการเมืองไทยว่า พรรคการเมืองไทยมีจำนวนมาก มีเกิดใหม่ มีล้มเลิกไป เพราะสังคมไทยมีการวิจารณ์ที่รุนแรง  แต่บทบาทการเมืองไทยก็มีไม่น้อยเลยในการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญการมีระบบตัวแทนประชาชนยิ่ง หลังการปกครอง พ.ศ. 2475 นักการเมืองมีบทบาทสำคัญยิ่ง ยุคนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็มีการถ่วงดุลในฐานะเป็นฝ่ายค้าน

ต่อมาในยุคของ ท่านพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พรรคการเมืองก็มีเสถียรภาพในการพัฒนาประเทศมาก โดยนำเอาปัญหาของประชาชนในการคลี่คลายปัญหา มีนโยบายหลายเรื่องที่แก้ปัญหาและพัฒนาสู่เป้าหมายที่ตั้งที่ไว้หลายเรื่องจนสำเร็จในช่วงสั้นๆ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากมองอนาคตของพรรคการเมืองในอีก 100 ปีจะเป็นช่วงท้าทายมากไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จะเผชิญความท้าทายอีกมากมาย ดังนั้นโครงสร้างของพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นระบบไหนก็แล้วแต่จึงต้องมองทุกมิติ เพราะปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหาแบบไร้พรมแดน  ที่มุ่งการพัฒนาให้ประเทศเจริญก้าวหน้าด้วยกันทั้งนั้น ไม่แตกต่าง

หลังจากนั้น นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย  ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาหัวข้อ “100 ปีแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนและแผนการพัฒนาจีนตามแนวคิดประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” โดยมีเนื้อหาพอสรุปประเด็นสำคัญ กล่าวคือ พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มต้นก่อตั้งพรรค มีสมาชิกเพียง 50 คน วันนี้มีสมาชิกมากถึง 90 ล้านคน และมีภาคีเครือข่าย 464,000 องค์กร ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถพัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตจนก้าวขึ้นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา 

ปัจจุบัน ประเทศจีนมีการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการสำรองเงินตรามากสุดในโลก มีเทคโนโลยี ไฮเทค มากที่สุดในโลก มีรถไฟความเร็วสูงรวมระยะทางยาวที่สุดในโลก มีสถานีอวกาศที่ขึ้นไปแล้ว และความสำเร็จที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนทำให้ประเทศจีนเจริญรุ่งเรื่องมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.2012-2020 โดยเป้าหมายสำคัญคือการแก้ไขปัญหาความยากจน ส่งผลให้คนจีน 98 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน อีก 950 ล้านคนกำลังจะพ้นจากความยากจน และอำเภอยากจน 832 แห่งหลุดพ้นจากความยากจนทั้งหมด พร้อมกับขจัดความยากจนเชิงสมบูรณ์และความยากจนแบบเชื่อมติดเป็นผืนรวมในระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายสร้างสังคม กินดี อยู่ดี ถ้วนหน้าพร้อมๆไปกับสร้างสังคมนิยมสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 2 (ปี ค.ศ. 2020-2035) ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง  จะสร้างประเทศให้ทันสมัยให้เข้มแข็ง ที่สำคัญพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเป็นพรรคเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของโลก สร้างนโยบายการต่างประเทศที่เป็นสันติภาพ

อุปทูตจีนกล่าวว่าอีก 100 ปีแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับแนวคิดการพัฒนาใหม่ ประกอบด้วย  1.นวัตกรรม สมดุล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเปิดกว้างและการแบ่งปัน  2.เน้นการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง  3.สร้างประเทศให้มีความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ส่วนรูปแบบการพัฒนาใหม่คือ อาศัยการหมุนเวียนภายในประเทศเป็นแกนหลักและการหมุนเวียนภายในและภายนอกประเทศเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน  ขณะเดียวกันยังมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของโลก โดยเป็นผู้สร้างสันติภาพของโลก ผู้สนับสนุนการพัฒนาของโลก และผู้พิทักษ์ระเบียบระหว่างประเทศ

นายหยาง ซิน กล่าวว่าความสัมพันธ์ของประเทศไทยและประเทศจีน วันนี้ครบรอบ 46 ปีอย่างเป็นทางการแล้ว รู้สึกยินดียิ่ง ที่ผ่านมาไม่ว่าการเชื่อมสัมพันธ์ทางจิตใจ การค้า การลงทุน ในบริบทด้านเศรษฐกิจ ทั้งไทยและจีนแนบแน่นด้วยดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจ ปี 2563 มูลค่าการค้าจีน-ไทย 98,630 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.5%   คำขอรับการส่งเสริมลงทุนจากจีนมีจำนวน 164 โครงการเงินลงทุน 31,500 ล้านบาท จีนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของไทย และไทยเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับที่ 3 ของจีนในอาเซียน   ที่สำคัญจีนยินดีที่จะร่วมพัฒนาด้านการลงทุนกับประเทศไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการร่วมลงทุนกับไทยในโครงการ EEC

ต่อจากนั้นเป็นช่วงของการสัมมนาหัวข้อ “46ปีความร่วมมือไทย-จีนกับแนวคิดประชาคมแห่งผลประโยชน์ร่วม” วิทยากรประกอบ ด้วย นายกร ทัพพะรังสี นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ดร.ธารากร วุฒิสถิรกูล ดำเนินรายการโดยนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ โดยสรุปประเด็นคือไทยและจีนเปรียบเหมือนเป็นพี่น้องกัน ความสัมพันธ์แนบแน่นตลอดเวลา และหากประเทศไทยจะพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นต้องไม่ลืมเศรษฐกิจสีเขียวที่กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนโลกและนักลงทุนจากประเทศจีน

อย่างไรก็ตามในบางเรื่องที่จีนประสบความสำเร็จที่ภาพเห็นชัด นั่นคือ “การระเบิดจากภายใน” ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และอื่นๆ ทุกกระดานเศรษฐกิจจีนทำสำเร็จมาแล้ว อีกทั้งหากเศรษฐกิจไทยจะพัฒนาและผลักดันให้เศรษฐกิจในประเทศไทยดีขึ้น ต้องใช้วงเงินสูงถึง 5 แสนล้านบาท ถึงจะดึงให้ GDP ขยับขึ้นมาได้ นอกจากจีนแล้ว ไม่มีประเทศไหนทำได้ในเวลานี้  ควรมองจีนให้เป็นโอกาส

นายกรกล่าวถึงความร่วมมือในอนาคตระหว่างไทยจีน หลังสถานการณ์โควิด -19 และความสำคัญของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทย-จีนว่า  หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ควรจะเน้นไปในสามด้าน คือ 1.เรื่องของการท่องเที่ยวที่ไทยมีความพร้อมอยู่แล้วและมีศักยภาพในด้านต่างๆ 2.การนำเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น จีนอยู่ในลำดับต้นๆ ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนก็พร้อมที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และ 3.ทิศทางของการส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวจะเน้นไปที่เรื่องของการส่งเสริมสุขภาพและสาธารณสุข