Health & Beauty
สคล.หนุนโครงการ'โรงเรียนคำพ่อสอน' ตั้งเป้าสร้างครู-เด็กคุณภาพขยายถึงบ้าน
![](images/1739373105-1.jpg)
กว่า 9 ปีในการดำเนิน “โครงการโรงเรียนคำพ่อสอน” ของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจโดยการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการสร้างคนดี มีศีลธรรม พึ่งตนได้ ปลอดอบายมุข ควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาไทย ดังที่อัญเชิญมานี้ “..ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกันแค่ให้แข่งขันกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกันเพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี..” โครงการนี้เริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในที่ตัวครู ให้ครูมีความเข้าใจตัวเอง เข้าใจนักเรียนใช้พลังแห่งความรักความเมตตาในการดูแลนักเรียน ทำให้ครูมิใช่เป็นเพียงผู้สอนวิชาการ แต่ครูคือพ่อแม่ที่ 2 ของนักเรียนที่ให้ความรักความอบอุ่น และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่ดี ลดพฤติรรมเสี่ยงจากสิ่งเสพติด และเห็นเห็นคุณค่าในตัวเอง ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองชุมชนที่มีต่อโรงเรียน
ผลึกความรัก ความรู้ ความเข้าใจจากการงานสู่โรงเรียนคำพ่อสอน
นางสาวอภิศา มะหะมาน ผู้ประสานงานโครงการเครือข่ายโรงเรียนคำพ่อสอน สคล. กล่าวว่า โครงการฯนี้ เป็นการตกผลึกความรู้ความเข้าใจเรื่องการศึกษาไทยและสภาพปัญหาสังคมปัจจุบัน จากประสบการณ์ตรงของการทำงานโครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้าซึ่งดำเนินการมาถึง ปีที่ 16 ในปีนี้ และโครงการครูดีไม่มีอบายมุข ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 13 ที่ทำให้รู้ว่าโรงเรียนต้องเป็นบ้านหลังที่๒ ให้แก่เด็กๆที่พร้อมเป็นที่บ่มเพาะและที่พักพิงใจให้แก่เด็กๆได้ หากเริ่มต้นด้วย “..ครูรักเด็กและเด็กรักครู..” ที่เกิดจากกิจวัตรและกิจกรรมอันเป็นวิถีชีวิตของโรงเรียน
เริ่มต้นจากครู สู่เด็ก ขยายไปถึงบ้าน
นายภิญโญ โสตถิฤทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองกก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2 กล่าวว่า ได้นำแนวคิดจากโครงการนี้มาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนหลังจากเข้าร่วมการอบรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาครูและนักเรียนให้เป็นมากกว่าการศึกษาในห้องเรียน โดยเน้นให้ครูอบรมจิตใจเด็กด้วยความรัก ความเข้าใจ และเป็นตัวอย่างที่ดี ผ่านการดำเนินงานของ “ครูดีไม่มีอบายมุข” ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม
โครงการโรงเรียนคำพ่อสอน เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ได้มีในตำรา ในโครงการจะเริ่มต้นจากความรัก “ให้ครูรักเด็ก ” ในแนวทางนี้ ครูก็จะมีการปรับตัว ปรับพฤติกรรมตนเอง ต้องเตรียมความพร้อมที่จะนำเข้าสู่การเรียนรู้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมปัจจุบันครอบครัวอาจไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100 % บางคนต้องอยู่กับคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย และ คุณครูคือพ่อ แม่คนที่ 2 ที่จะคอยอบรมบ่มนิสัยให้พวกเขา เพราะฉะนั้นคุณครูต้องมีใจรักเด็ก โรงเรียน คือบ้านหลังที่ 2 โครงการนี้ ทำให้ครูมีการเปลี่ยนแปลง ใช้คำพูดในเชิงบวก ฟังจากเหตุและผลด้วยความเข้าใจและต้องการช่วยเหลือแก้ปัญหา เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเข้าหา กล้าพูดคุย และเชื่อฟัง ทำให้คุณครูทำงานง่ายขึ้น กิจกรรมในตอนเช้า คือพลังบวก เช่น การชื่นชมตัวเองเห็นคุณค่าตัวเอง เป็นหลักจิตวิทยาที่ได้พูด ซึ่งเป็นการบันทึกในทุก ๆ วัน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงบวกของพวกเขาได้
กิจกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลง
นางสาวเยาวดี ย้อยสวัสดิ์ หรือ “ครูหนู” แกนนำโครงการฯ กล่าวว่า กิจกรรมของโรงเรียนคำพ่อสอน ในระยะเวลา 1 ปี ออกแบบมาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของโรงเรียน โดยกิจกรรมจะให้ความสำคัญการการให้ความรักก่อนให้ความรู้ ซึ่งได้วางแนวทางด้วยความเรียบง่าย แต่กลับมีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เพลงที่มีเนื้อร้องทำนองด้านบวกที่ใกล้ใจเด็กๆ เปิดสม่ำเสมอเช่นเพลงโรงเรียนคำพ่อสอนในทุกเช้าให้เด็กๆผ่อนคลายสบายใจ และสร้างบรรยากาศเชิงบวกให้แก่เด็ก ๆ ด้วยการร่วมกันทำความสะอาดโรงเรียนก่อนเข้าเรียน มีกิจกรรมการกอดครูเพื่อสร้างความอบอุ่นและความใกล้ชิด รวมถึงการออกกำลังกายเบา ๆ (Slow Jogging) เพื่อกระตุ้นพลังงานก่อนเรียน หรือ ช่วงรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เด็ก ๆ จะมีการส่งจดหมายสื่อรัก ขอให้พ่อแม่ลด ละเลิกเหล้า ต่อด้วย ขอให้พ่อแม่เลิกเหล้าเลิกเบียร์อบายมุขในวันเกิดทุกสัปดาห์ หรือ ในช่วงสิ้นปี เด็ก ๆ จะเขียน “ความดีนิพนธ์เยาวชนโรงเรียนคำพ่อสอน” เกี่ยวกับตัวเองว่าจะปรับปรุงพัฒนาและตัวเองพัฒนาตัวเองอย่างไรบ้าง ชื่นชมตัวเองที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขเป็นเด็กดีของสังคม เป็นต้น ซึ่งความคืบหน้าของผลลัพธ์ดีขึ้นเรื่อย ๆ
ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจน ใครเห็นต้องว้าว
นอกจากนี้ยังมี “ห้องเรียนพ่อแม่” ที่อบรมผู้ปกครองเกี่ยวกับการใช้หลักจิตวิทยาในการเลี้ยงดูบุตร ผ่านกิจกรรมที่สนุกและเข้าใจง่าย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ปกครองเป็นอย่างมาก โดยพบว่าหลังเข้าร่วมกิจกรรมผู้ปกครองมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
นางสาวปริศนา พริกบางกา หรือ “ย่าเอี้ยง” ของน้องอาโป เล่าว่าหลังจากเข้าร่วม “ห้องเรียนพ่อแม่” ตนเริ่มเข้าใจถึงบทบาทของตนเองในการเลี้ยงหลานสาวมากขึ้น จากเดิมที่มีพฤติกรรมดื่มเหล้าและใช้คำพูดรุนแรง กลับกลายเป็นย่าที่ตั้งใจเลิกเหล้าเพื่อหลานสาว ทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวดีขึ้น หลานสาวเองก็มีความสุขและใกล้ชิดกับย่ามากขึ้นด้วย
โครงการโรงเรียนคำพ่อสอน ไม่ได้เพียงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครูและนักเรียน แต่ยังส่งผลต่อผู้ปกครองและชุมชนโดยรอบ “โรงเรียนบ้านคลองกก” นับเป็นตัวอย่างของการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านวิชาการและจิตใจ สร้างสรรค์สังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป