In News

กทม.เร่งขยายเตียงICUโควิดที่มทบ.11



กรุงเทพฯ-ผุ้ว่าฯกทม. เร่งขยายเตียง ICU มทบ. 11 รองรับผู้ป่วยโควิด-19 สีแดง-เหลือง คาดรับผู้ป่วยได้ 2 ก.ค.นี้

(26 มิ.ย. 64) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยกการเขตหลักสี่ ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการขยายเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการระดับปานกลางค่อนไปทางหนัก (สีเหลือง-สีเหลืองเข้ม) และผู้ป่วยระดับอาการรุนแรง (สีแดง) ณ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก พื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 เขตหลักสี่ โดยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข กองทัพบก โรงพยาบาลธนบุรี โดยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข พล.ต. ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 พร้อมผู้บริหารพร้อมคณะแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลธนบุรี โอกาสนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ ได้ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย 

สำหรับสถานที่เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับอาการสีเหลือง และสีแดง ภายในโรงพยาบาลสนามกองทัพบก พื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 นั้น  ลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่ 2 ชั้น 4 หลัง มีพื้นที่เป็นสัดส่วนและมีความปลอดภัย สามารถรองรับผู้ป่วยสีเหลือง 128 เตียง สีแดง 58 เตียง รวม 186 เตียง ซึ่งตัวอาคารมีโครงสร้างที่สมบูรณ์แล้ว เนื่องจากเคยเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยสีเขียวมาก่อน ขณะนี้คงเหลือในส่วนงานปรับปรุงพื้นที่ ทำทางลาดและทางเชื่อมอาคาร การติดตั้งระบบไฟฟ้า ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบความปลอดภัยด้านอื่นๆ อาทิ ระบบกำจัดน้ำเสีย และระบบกำจัดขยะเป็นต้น คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ สามารถปรับพื้นที่และระดมบุคลากรเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ และสามารถรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในวันที่ 2 ก.ค. 64 

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มีคำสั่งให้ปิดแคมป์คนงานในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ห้ามคนงานเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ รวมทั้งให้ชะลอการก่อสร้างโครงการของรัฐเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งในส่วนของ กทม. ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด (ว.8) ให้ผู้อำนวยการเขต นัดประชุมผู้ประกอบการแคมป์แรงงานในพื้นที่บ่ายนี้ เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับคนงาน โดยกองบัญชาการกองทัพไทย ได้ส่งกำลังร่วมสนับสนุนภารกิจ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ร่วมจำกัดพื้นที่ (ZEAL) แต่ไม่ได้กักบริเวณ ระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน หรือหากภายใน 1-2 สัปดาห์หากสถานการณ์ดีขึ้น ก็จะรีบอนุญาตเปิดทำการในทันที ซึ่งระยะนี้ให้ผู้ประกอบการดูแลคนงานในเบื้องต้นไปก่อน จากนั้นกระทรวงแรงงานจะเข้ามาตามดูแลตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป