Authority & Harm
'สตง.กาฬสินธุ์'จ่อเรียกอธิบดีกรมโยธาฯ และ2รับเหมาขาใหญ่สอบงาน7ชั่วโคตร

กาฬสินธุ์-แฉกรมโยธาฯยังไม่ส่งสัญญาก่อสร้างให้ สตง.ตรวจสอบ ด้าน สตง.กาฬสินธุ์ฮึ่ม ใครเจตนาประวิงเวลามีโทษตามกฏหมาย เผยเบื้องต้นลงพื้นที่เก็บข้อมูลได้หลักฐานเพียบ ขณะที่ “ฉลาด”ปธ.กมธ.ปปช. แจ้งการสอบทุจริต 7 ชั่วโคตรยังไม่จบรอสรุปเอกสารก่อนส่ง ปปช.ฟัน ย้ำผลรายงานสภาผู้แทนจะเป็นบรรทัดฐานในการป้องกันการทุจริตจากการบริหารงบประมาณส่วนกลางลงสู่ภูมิภาค
ปัญหาการก่อสร้างโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่ง หรือที่ชาวบ้านประณามว่า โครงการ 7 ชั่วโคตร จำนวน 8 โครงการ เป็นงบประมาณของ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย รวมกว่า 545 ล้านบาท ว่าจ้าง หจก.เฮงนำกิจ จำนวน 6 โครงการ และ หจก.ประชาพัฒน์ จำนวน 2 โครงการ เริ่มทยอยทำสัญญาก่อสร้างระหว่างปี 2562-2564 แต่ทั้งหมดถูกทิ้งงานก่อสร้างและก่อสร้างไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว ภายหลังถูกเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่าย ปปท.และ ธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้องเรียนให้ สตง. - ปปท.- ปปช. รวมถึง กมธ.ปปช.ฯ ตรวจสอบอย่างหนัก ช่วงกลางปี 2567 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ยกเลิกสัญญาจ้างทั้งหมดประกาศเป็นผู้ทิ้งงาน พร้อมประกาศจะเรียกเงินคืนแผ่นดิน ขณะที่ กมธ.ปปช.ฯ ติดตามตรวจสอบจนพบพิรุธ การบริหารสัญญา การเบิกจ่ายเงินแอดวานซ์ 15% และเบิกเงินงวดงาน นอกจากนี้ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ประกาศเวียนห้างให้ 2 หจก.นี้เป็นผู้รับเหมาทิ้งงาน เพื่อป้องกันความเสียหายกับหน่วยงานอื่น และป้องกันความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดกาฬสินธุ์ น.ส.จิรพรรณ รัตนะ ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดกาฬสินธุ์ และ นายพรสิริ ทองกอง ผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบที่ 5 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า การตรวจสอบโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ และ โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่ง งบประมาณของ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนงาน จากผู้รับจ้าง 2 หจก. โดย หจก.เฮงนำกิน ได้รับจ้างงานไปจำนวน 6 โครงการ ส่วน หจก.ประชาพัฒน์ ได้รับจ้างงานไปจำนวน 2 โครง ถึงแม้ทั้งหมดจะถูกกรมบัญชีกลางฯ ประกาศเวียนห้างเป็นผู้รับจ้างทิ้งงาน ในเรื่องของความเสียหายต่อภาครัฐก็จะต้องรับผิดชอบคืนเงินให้แผ่นดินเมื่อเกิดความเสียหายด้วย เนื่องจากโครงการทั้ง 8 โครงการไม่ใช่โครงการที่มัดรวมกันประกาศ แต่เป็นการประกาศออกมาทีละโครงการงบประมาณรวมเป็นเงินถึง 545 ล้านบาท ตามข้อมูลพบมีการจ่ายเงินแอดวานซ์ 15% มีการเบิกจ่ายเงินค่างวดงานในทุกโครงการ รวมๆทั้งหมดประมาณเบื้องต้นกว่า 250 ล้านบาท
น.ส.จิรพรรณ รัตนะ ผอ.สนง.ตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ สตง. ส่วนกลาง และ สตง.ภาค จ.ขอนแก่น ได้มอบหมายให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดกาฬสินธุ์ ดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อพิทักษ์เงินแผ่นดิน ไม่ให้เกิดความเสียหาย การติดตามตรวจสอบโครงการนี้ สตง.กาฬสินธุ์ ได้จัดทีมลงพื้นที่รับทราบข้อมูลจากประชาชนและองค์กรที่ร้องทุกข์ในเบื้องต้นแล้วและในขณะนี้ได้เข้าไปติดตามสอบถามยังกรมโยธาธิการและผังเมือง และ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดกฬสินธุ์ พร้อมส่งหนังสือเพื่อขอรับทราบข้อมูลทั้ง 8 โครงการ ไปแล้ว ทั้งนี้เอกสารที่ได้ก็เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนที่จะมีการชี้มูลความผิดที่มีต่อเงินภาษีแผ่นดิน จึงขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจในกระบวนการตรวจสอบของ สตง.ในครั้งนี้
ด้านแหล่งข่าวใน สตง. เปิดเผยว่า นอกจากการตรวจสอบเอกสารแล้ว ทีมสอบสวนได้ลงพื้นที่เก็บรายละเอียดการก่อสร้างทำให้ทราบว่าโครงการนี้มีการจ้างคอนเซ้าท์เข้ามาเป็นช่างควบคุมงาน และทั้งหมด สตง. จะมีหนังสือเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ให้มาชี้แจงยัง สตง.จังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่ว่าจะเป็นอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้บริหารสัญญา ช่างควบคุมงาน ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ที่ปรากฏในสัญญาจ้าง รวมถึง ผู้รับจ้างทั้ง 2 หจก. แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเรียกเอกสารสัญญาจ้างงาน และอื่นๆ จากกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อนำมาตรวจสอบ ดังนั้นเมื่อเอกสารครบก็จะนำมาเทียบเคียงกับข้อมูลที่ได้รับ จากนั้นก็จะทำการออกหนังสือเชิญมาให้ปากคำกรณีการก่อสร้างทั้งหมด แต่ตอนนี้เอกสารที่ สตง.ต้องการ กรมโยธาฯ ยังไม่ได้ส่งเอกสารมาชี้แจงแม้แต่ชิ้นเดียวจึงทำให้กระบวนการสอบสวนล่าช้า แต่ทั้งหมดมีระยะเวลาเป็นกรอบการทำงาน หากพบว่ามีการประวิงเวลาก็ถือว่ามีเจตนากระทำผิดกฏหมายก็จะต้องมีความผิด แต่เมื่อกรอบระยะเวลายังไม่ครบกำหนดก็จะต้องรอเอกสารทั้งหมดเสียก่อน ยืนยันกระบวนการตรวจสอบเพื่อติดตามเงินแผ่นดินคืนจะต้องจบด้วยกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น
ด้าน ดร.ฉลาด ขามช่วง ปธ.กมธ.ปปช.ฯ เปิดเผยว่า การตรวจสอบโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ และ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ชัดแจ้งว่า กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้ดำเนินการยกเลิกสัญญาและประกาศให้ห้างหุ้นส่วน ประชาพัฒน์ และ เฮงนำกิจ เป็นผู้รับเหมาทิ้งงาน ซึ่งผลจะทำให้ 2 หจก.นี้ ไม่มีคุณสมบัติในการเข้าประมูลงานกับภาครัฐทุก กระทรวง ทบวง กรม การที่กรมบัญชีกลางประกาศเป็นผู้รับเหมาทิ้งงาน ไม่ถือว่าล่าช้าแต่เป็นการตรวจสอบเพื่อความรอบควบ ทั้งนี้ปรากฏอยู่ในเอกสารหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0405.7/ว17 ลงวันที่ 24 มกราคม 2568 ที่ได้ส่งสำเนามายัง กมธ.ปปช.ฯ รายละเอียดเบื้องต้น ชัดแจ้งว่า กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือเวียนถึงปลัดกระทรวง อธิบดี อธิการบดี เลขาธิการ ผู้อำนวยการ ผู้บัญชาการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าการ หัวหน้ารัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารท้องถิ่น และหัวหน้าหน่วยงานอื่นของรัฐไปจนครบถ้วนแล้ว
“จากนี้ต่อไปในการติดตามตรวจสอบปัญหา โครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ และ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง หรือโครงการก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ทั้ง 8 โครงการ งบประมาณ 545 ล้านบาท ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ปธ.อนุกมธ.ปปช.ฯ นายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็น ปธ.ที่ปรึกษา กมธ.ปปช.ฯ และ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิประจำ กมธ.ปปช.ฯ นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์และ นายธีรัจชัย พันธุมาศ รอง ปธ.กมธ.ปปช.ฯ เร่งดำเนินการพิจารณา โดยเฉพาะประเด็นสำคัญต่อข้อบกพร่องของ ผู้บริหารสัญญา ช่างผู้ควบคุมงาน ที่ กรมโยธาฯ ยังส่งเอกสารไม่ครบ โดยเฉพาะเหตุในการเบิกจ่ายและการประเมินผลการเบิกจ่ายในทุกขั้นตอน เพื่อดำเนินการรายงานผลการพิจารณาในขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินว่ามีเหตุแห่งการทุจริตหรือไม่อย่างไร และเมื่อตรวจเอกสารเรียบร้อยก็จะเชิญ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรตรวจสอบ ปปช.-สตง. โดยเฉพาะอธิบดีกรมโยธาฯ ช่างผู้ควบคุมงานและ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ รวมไปถึงบุคคลที่มีรายชื่อในการบริหารสัญญามาชี้แจงอีกครั้งก่อนที่จะทำสรุปผลการตรวจสอบปัญหาโครงการ 7 ชั่วโคตร นำส่ง ปปช.และรายงานต่อสภาฯ ต่อไป“
ดร.ฉลาด กล่าวต่อว่า การติดตามตรวจสอบของ กมธ.ปปช.ฯ เกิดขึ้นเพื่อร่วมป้องกันปัญหาการทุจริตในภาครัฐและเพื่อความเป็นธรรมให้กับพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ คนกาฬสินธุ์ ในพื้นที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย ในพื้นที่ก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบมายาวนานตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างปี 2562 ถึง ปี 2568 ประชาชนทุกข์ทรมานเศรษฐกิจเมืองได้รับความเสียหาย อีกทั้ง 8 โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ก็ก่อสร้างไม่เสร็จแม้แต่โครงการเดียว ความเดือดร้อน ถึงกับพ่อค้าคหบดี กลุ่มเครือข่าย ปปท. เครือข่ายภาคประชาสังคมและประชาชน ธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ต้องออกมาร้องเรียนปัญหาเพื่อรับความเป็นธรรม มีการเปิดโปงจนมีกระบวนการตรวจสอบเพื่อดำเนินการแก้ไข เนื่องจากทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ ภาครัฐสูญเสียงบประมาณ ดังนั้นปัญหานี้จะต้องจบด้วยกระบวนการยุติธรรมและต้องมีผู้รับผิดชอบจากโครงการนี้ยังจะเป็นบรรทัดฐานในการป้องกันปัญหาการทุจริตจากการใช้งบประมาณของส่วนกลางต่อไป