In Bangkok

กทม.ลุยเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย ทางม้าลายหน้ารร.สวนกุหลาบฯ



กรุงเทพฯ-นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวกรณีเกิดอุบัติเหตุนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยถูกรถยนต์ฝ่าไฟแดงชนได้รับบาดเจ็บขณะข้ามทางม้าลายหน้าโรงเรียนว่า สำนักงานเขตฯ ได้ติดตามให้การช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบเหตุดังกล่าว โดยประสานแจ้งหน่วยกู้ชีพและโรงพยาบาลเพื่อนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว รวมทั้งตรวจสอบกล้องวงจรปิด (CCTV) และสืบหาตัวพยานเพื่อตรวจสอบสาเหตุของอุบัติเหตุและประสานงานด้านกฎหมาย เช่น การดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ที่ละเมิดกฎจราจร ติดต่อกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถหรือประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล รวมถึงให้การดูแลด้านจิตใจแก่ครอบครัวนักเรียน

ขณะเดียวกัน สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในการจราจรบริเวณหน้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยเน้นการอำนวยความสะดวก ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยมาตรการเร่งด่วนได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลการจราจรช่วงเวลาเช้า-เย็น ประสานตำรวจจราจรเพิ่มการกวดขันวินัยจราจร แจ้งหน่วยพยาบาลให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วหากเกิดเหตุ ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ปกครองและผู้ขับขี่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้ใช้ความระมัดระวัง ไม่ขับขี่โดยใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด และเพิ่มมาตรการป้องกันอุบัติเหตุในระยะยาว โดยติดตั้งป้ายเตือน “เขตโรงเรียน ขับช้าๆ” และป้ายจำกัดความเร็ว 20-30 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพิ่มไฟกระพริบเตือนหน้าโรงเรียนโดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ตีเส้นชะลอความเร็ว (Speed Bump) หรือทางม้าลาย ติดตั้งป้ายบอกระยะทางโรงเรียนล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ขับขี่มองเห็นได้ชัดเจน กำหนดเวลาห้ามรถบรรทุก หรือรถขนาดใหญ่ผ่านหน้าโรงเรียนช่วงเวลาเร่งด่วน รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายและรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ผู้ปกครอง หรือประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัย เช่น การจัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียน ปรับผู้ขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ขับเร็วเกินกำหนดหรือจอดกีดขวาง รวมทั้งประสานตำรวจจราจรตั้งด่านตรวจจับความเร็วเป็นระยะ เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการทำงานร่วมกับโรงเรียนและชุมชนสร้าง "อาสาสมัครจราจรนักเรียน" ดูแลทางม้าลายและจุดเสี่ยง และจัดประชุมให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับความปลอดภัยจราจร รวมทั้งสำรวจและปรับปรุงจุดเสี่ยงอุบัติเหตุร่วมกับชุมชน รณรงค์ "ยกมือข้ามถนน หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย" ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) และระบบ AI ตรวจจับผู้ฝ่าฝืน ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า ตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสืบหาสาเหตุอุบัติเหตุ ประสานหน่วยกู้ชีพและโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บโดยเร็ว และให้คำแนะนำด้านกฎหมาย เช่น การดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ที่ละเมิดกฎจราจร ประสานกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถหรือประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล ดูแลด้านจิตใจของครอบครัวนักเรียน โดยมีนักจิตวิทยาหรือเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ให้การช่วยเหลือ และร่วมมือทุกภาคส่วนเพื่อเพิ่มความปลอดภัย นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ร่วมกับ สจส. กองบังคับการตำรวจนครบาล และสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ ปรับปรุงจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ เช่น ตัดแต่งกิ่งไม้ที่บดบังวิสัยทัศน์ของผู้ขับขี่ ติดตั้งป้ายเตือนและป้ายกำกับความเร็ว สร้างเส้นชะลอความเร็ว และติดตั้งรั้วเหล็กกลางถนนเพื่อบังคับใช้ทางข้าม

นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวว่า สจส. ได้ดำเนินมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในการข้ามถนนบริเวณทางข้าม (ทางม้าลาย) ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเพิ่มป้ายจราจร เครื่องหมายเตือน และป้ายจำกัดความเร็วให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็วและเพิ่มความระมัดระวัง นอกจากนี้ ยังใช้กล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อเฝ้าระวังและบันทึกพฤติกรรมการขับขี่และนำข้อมูลมาบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงประสานสำนักงานเขตพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกในการข้ามถนนของเด็กนักเรียนทั้งช่วงเช้าก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน

พร้อมกันนี้ สจส. ได้เร่งรัดปรับปรุงทางม้าลายในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการข้ามถนนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณโรงเรียน วัด ชุมชน โรงพยาบาล พื้นที่ท่องเที่ยว และแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ โดยมีแผนติดตั้งสัญญาณไฟจราจรชนิดกดปุ่มเพิ่มขึ้น 20 จุดในปี 2568 และอีก 30 จุดในปี 2569 รวมถึงการทาสีโคลด์พลาสติกสีแดงเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดการเกิดอุบัติเหตุจากการข้ามถนน นอกจากนี้ สจส. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการใช้ทางม้าลายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนเคารพกฎจราจร เคารพสิทธิของผู้ใช้ทางม้าลาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยการสัญจรของเมือง และทำให้ทางม้าลายและทางข้ามถนนทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้าและประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งดำเนินมาตรการเชิงรุกสนับสนุนการรณรงค์ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับวินัยจราจร การเคารพกฎจราจร และการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะเน้นย้ำเรื่องวิธีเดินข้ามถนนและใช้ทางม้าลายอย่างปลอดภัยให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งการรณรงค์ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย