In Thailand
เสียงสะท้อนจากอปท.ขอ'เสี่ยหนู'จริงใจ!! กับการกระจายอำนาจสู่ปชช.ในท้องถิ่น

กาฬสินธุ์-ดร.เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายกเทศมนตรีตำบลยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดกาฬสินธุ์ (สว.) เรียกร้องให้รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีความจริงใจและให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมสรุปประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อประชาชนให้สมบูรณ์แบบ
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.เกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง หรือนายกตุ้ย เจ้าของโปรไฟล์ “คิดไม่ออกบอกตุ้ย” นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.) ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ทางการเมืองมายาวนาน โดยไต่เต้ามาจาก ส.อบจ., รองนายก อบจ.กาฬสินธุ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.กาฬสินธุ์ (สว.) และได้โอกาสกลับมาเป็นนายก ทต.ยางตลาดสมัยที่ 2 เมื่อการเลือกตั้งเดือน ต.ค.67 ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า การบริหารจัดการในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ยังอยู่ในวังวนเดิม การกระจายอำนาจจากส่วนกลางยังลงมาไม่ถึงท้องถิ่นเต็มที่ ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏสามารถจำแนกเป็น 4 ประเด็นหลักคือ 1. ปัญหาเรื่องงบประมาณ, 2.ปัญหาเรื่องบุคลากร, 3.ปัญหาเรื่องกฎหมายระเบียบและข้อบังคับ และ 4.ปัญหาเรื่องสวัสดิการและขวัญกำลังใจ
ดร.เกรียงไกรอธิบายว่าปัญหาด้านงบประมาณนั้น เนื่องจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่เพียงพอต่อการจัดบริการสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั่วถึงทันความต้องการของประชาชน จึงอยากเสนอให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มสัดส่วนงบประมาณที่รัฐบาลกลางจัดสรรให้ท้องถิ่นเป็นไม่น้อยกว่า 35% (ตามรัฐธรรมนูญปี 2540) ยกเลิกและคืนภารกิจที่เป็นของกระทรวงศึกษาและกระทรวงพัฒนาสังคม ฯ เช่น ภารกิจจัดการนมโรงเรียน อาหารกลางวัน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ค่าตอบแทนของ อสม.ฯลฯ ออกจากสัดส่วนของท้องถิ่น แต่ให้คงงบประมาณส่วนนี้คงไว้เพื่อใช้พัฒนาตามอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น และปัญหาการสร้างกฎเกณฑ์ขั้นตอนเกินจำเป็นในการเข้าถึงกองทุน กสท. และหรือสถาบันการเงินต่างๆเพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่น
“ส่วนปัญหาเรื่องบุคลากรนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ เนื่องจากคำสั่ง คสช. ที่ 8/2560 จำกัดสิทธิการสรรหาพนักงานโดยตรง แม้ส่วนกลางจัดสอบก็มีปัญหาจนถึงปัจจุบัน จึงขอเสนอให้กระทรวงมหาดไทยควรเร่งรัดออก พรบ.ยกเลิกคำสั่งของ คสช.ที่ 8/2560 เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถสรรหาบุคลากรในพื้นที่ได้เอง ปรับหลักเกณฑ์ให้พนักงานจ้างภารกิจพนักงานจ้างทั่วไปบางประเภท สามารถเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นพนักงานหรือข้าราชการในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและขวัญกำลังใจให้คนในพื้นที่ได้พัฒนาบ้านเกิด ขณะที่ปัญหาเรื่องกฎหมายระเบียบและข้อบังคับปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการดำเนินงานที่รวดเร็วและตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้ให้ข้อเสนอกระทรวงมหาดไทยควรปรับปรุงระเบียบ เช่น กฎหมาย 2 วาระของนายกท้องถิ่น การขออนุญาตเดินทางไปราชการ และระเบียบการจัดทำแผนงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งออกระเบียบกฎหมายให้ท้องถิ่นทำการพาณิชย์หารายได้เองได้” ดร.เกรียงไกรกล่าว
ดร.เกรียงไกรอธิอบายเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาเรื่องสวัสดิการและขวัญกำลังใจ หรือค่าตอบแทนของผู้บริหารท้องถิ่นนั้น ไม่ได้รับการปรับปรุงมานานกว่า 20 ปี ไม่มีเงินบำนาญที่เหมาะสมสำหรับผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น การพิจารณาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในชั้นที่สูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้บริหารท้องถิ่นที่มาจากประชาชน ทั้งนี้ ขอเสนอปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการของผู้บริหารท้องถิ่นให้เหมาะสม ใช้เกณฑ์คะแนนประเมิน ITA และ LPA เป็นตัวชี้วัดในการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม นำหลักการเงินบำนาญของ ส.ส. และ ส.ว. มาเป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วย
“สรุปภาพรวม ข้อเสนอเหล่านี้สะท้อนถึงความต้องการให้มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และยั่งยืน ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องการความร่วมมือและสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและจริงใจ ถ้าทำได้ครบตามข้อเสนอแนะ มั่นใจว่า เศรษฐกิจโตขึ้น ท้องถิ่นก้าวหน้า ประเทศชาติเจริญกว่าที่ผ่านมา” ดร.เกรียงไกรกล่าวในที่สุด