Travel Sport & Soft Power

วิศวจุฬาฯนำสุนัขดมกลิ่นคัดกรองโควิด



กรุงเทพฯ-คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำโดยศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี ร่วมกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์, คณะแพทยศาสตร์, คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บูรณาการความร่วมมือกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท พีคิวเอ แอสโซซิเอส จำกัด พัฒนานวัตกรรม “รถดมไว เพื่อนำสุนัขดมกลิ่นคัดกรอง COVID-19 ออกปฏิบัติงานภาคสนาม”  

การที่ผู้ป่วยโควิด-19 มีกระบวนการเผาผลาญในร่างกายที่แตกต่างออกไปจากก่อนที่จะได้รับเชื้อ ทำให้มีสารเคมีจากต่อมทั้งสามชนิดเปลี่ยนแปลงไปทั้งชนิดและปริมาณ จึงถูกตรวจจับโดยสุนัขได้ โดยสารเคมีระเหยง่ายที่เก็บมาจากผิวหนังมนุษย์อาจมาจากแหล่งกำเนิดหลายแหล่ง ได้แก่ ต่อมใต้ผิวหนังชนิด Eccrine, Sebaceous และ Apocrine โดยต่อม Apocrine นี้จะเป็นต่อมสำคัญที่ผลิตสารระเหยง่าย เป็นกลิ่นตัวเฉพาะของมนุษย์ ส่วนต่อมอีกสองชนิดจะผลิตสารเคมีที่ไม่ระเหยง่ายเป็นส่วนใหญ่ซึ่งไม่มีผลต่อกลิ่นตัวโดยตรง อย่างไรก็ตามสารพวกนี้จะถูกนำไปใช้ต่อโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ใต้ผิวหนังมนุษย์ แล้วเปลี่ยนเป็นสารระเหยง่าย ให้กลิ่นไปปนอยู่กับกลิ่นตัวมนุษย์ ดังนั้นกลิ่นโดยรวมของตัวอย่างเหงื่อที่ดูดซับโดยแท่งสำลี แล้วเก็บมาให้สุนัขดม จะมีคุณสมบัติแตกต่างกันขึ้นกับชนิดและปริมาณของต่อมในแต่ละอวัยวะ

หลังรายงานความสำเร็จของโครงการวิจัย “การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สุนัขดมกลิ่นได้ให้บริการตรวจคัดกรองแก่พนักงานบริษัทเชฟรอนฯ และสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา แล้วจำนวนกว่า 500 ราย เมื่อมีการระบาดของโรคในกรุงเทพฯ สุนัขดมกลิ่นจึงได้เดินทางจากจังหวัดสงขลา มาตั้งจุดตรวจที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้บริการตรวจคัดกรองแก่บุคลากรจุฬาฯ ผู้ป่วยติดเตียง (โดยความร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) โดยมีอาสา พม. ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหงื่อมาส่งตรวจแล้วจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,500 ราย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสจากสิ่งแวดล้อมไปบนตัวสุนัขในระหว่างลงพื้นที่คลัสเตอร์ต่างๆ  จึงได้มีการออกแบบห้องปฏิบัติงานเคลื่อนที่ “รถดมไว” พร้อมอุปกรณ์มาตรฐานตามข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค ซึ่งจะสร้างความปลอดภัยทั้งผู้ที่มารับการตรวจและสุนัขที่ปฏิบัติงาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน และคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละวัน

ทั้งนี้ “รถดมไว” มีชื่อเต็มเป็นภาษาอังกฤษว่า Dog Olfactory Mobile Vehicle for Viral Inspection (DOM VVI)  ถูกออกแบบให้มีห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ อุปกรณ์การดม และอุปกรณ์ฆ่าเชื้อต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกับกรมควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นที่ใช้สอยประมาณ 16.8 ตารางเมตร (7 เมตร x 2.4 เมตร) ภายในแบ่งเป็น 4 ห้อง ได้แก่
 1. ห้องเอนกประสงค์ เป็นห้องสำหรับวางตู้ล็อคเกอร์เก็บสัมภาระผู้ปฎิบัติงานบนรถ และอุปกรณ์ความปลอดภัยพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์ทำความสะอาดรถ
 2. ห้องพักสุนัข สำหรับให้สุนัขพักในช่วงเวลาที่ไม่ได้ปฏิบัติงาน
 3. ห้องเตรียมตัวอย่าง เป็นห้องสำหรับรับตัวอย่างที่เก็บจากภายนอกตัวรถ เข้ามาเตรียมเปลี่ยนถ่ายภาชนะ
 4. ห้องปฏิบัติงาน เป็นพื้นที่สำหรับให้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากตัวอย่างที่วางบนแท่นวางตัวอย่างจำนวนรอบละ 12 แท่น
“รถดมไว” ได้นำห้องปฏิบัติการของสุนัขดมกลิ่นขึ้นมาอยู่ภายใน ด้วยการจัดสรรพื้นที่ที่มีจำกัด ภายในรถได้ถูกออกแบบเพื่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยและลงตัว มีเครื่องปรับอากาศให้ความเย็นแก่สุนัข นอกจากนี้ยังได้คำนึงถึงความปลอดภัยของทั้งเจ้าหน้าที่และสุนัขผู้ปฏิบัติงานบนรถ โดยได้สร้างระบบความดันลบในห้องเตรียมตัวอย่าง ระบบฆ่าเชื้อด้วยรังสี UV ในช่องรับส่งตัวอย่าง ห้องเตรียมตัวอย่างและห้องปฏิบัติงาน พร้อมทั้งระบบความปลอดภัยอื่น ๆ อาทิ ตู้ยาปฐมพยาบาล ถังดับเพลิง ไฟขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และไฟแจ้งเตือนขณะปฏิบัติงานบนรถ นับเป็นรถปฏิบัติงานชีวนิรภัยเคลื่อนที่ของสุนัขดมกลิ่นคันแรกของประเทศไทย