In Thailand
กมธ.ปปช.สภาฯรุกวางมาตรการล้อมคอก ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นภาครัฐที่กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์-คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปปช.ฯ) พร้อมจัดสัมมนาเรื่อง “มาตรการและแนวทางการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ” เพื่อหามาตรการและแนวทางที่มีประสิทธิภาพ ในการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่โปร่งใสและยั่งยืนตามนโยบายรัฐบาล
วันที่ 21 กุมภาพันธุ์ 2568 ที่ทำการพรรคเพื่อไทย จ.ร้อยเอ็ด ดร.ฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด เขต 2 พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปปช.ฯ) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องมาจากวิวัฒนาการของการทุจริต ที่มีรูปแบบที่ซับซ้อนและหลากหลาย และปัญหาการขาดจิตสำนึก ในการแยกแยะผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้รัฐได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง สูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับการทุจริตที่ยากต่อการตรวจสอบ โดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่ ที่ใช้งบประมาณมหาศาล ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชน ถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้งกลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกัน เพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมถึงแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ประเด็น (21) ได้กำหนดเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยกำหนดเป้าหมาย “ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ” ผ่านการพัฒนาคนและระบบที่หล่อหลอมให้ประชาชนทุกกลุ่ม มีจิตสำนึกและพฤติกรรมที่ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในการต่อต้านการทุจริตในหน่วยงานรัฐ ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละองค์กร ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกที่เกี่ยวข้อง ในการปราบปรามการทุจริต เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน” ดร.ฉลาดกล่าว
ดร.ฉลาดกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม แม้ทุกภาคส่วนในสังคมจะมีความตื่นตัว และเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพิ่มมากขึ้น แต่การแก้ไขปัญหาการทุจริตยังคงเป็นนโยบายเร่งด่วนสำคัญ ที่ทุกรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ โดยดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังให้คนไทยมีทัศนคติและค่านิยมที่ไม่ยอมรับการทุจริต รวมถึงการปรับปรุงระบบจัดซื้อจัดจ้าง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การบริหารงานของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ให้มีการดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย และมีการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 เน้นย้ำถึงการปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ โดยการพัฒนาระบบดิจิทัล (Digital Government) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณและการปฏิบัติราชการ ซึ่งบุคลากรภาครัฐจะต้องเป็นคนดีและเก่ง มีคุณธรรม มุ่งมั่นและมืออาชีพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ พร้อมส่งเสริมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสาธารณะของรัฐ และต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการตรวจสอบและป้องกัน
“คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจกระทำกิจการ พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องใด ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการ และมาตรการการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่น ตามที่สภามอบหมายตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 90 (22) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในประเทศไทย จึงได้จัดการโครงการสัมมนาเรื่อง “มาตรการและแนวทางการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ” ขึ้น ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ ที่ห้องจัดประชุมสัมมนา บี 1-2 ชั้น บี 1 อาคารรัฐสภา กรุงเทพฯ เพื่อหามาตรการและแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตในภาครัฐ อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่โปร่งใสและยั่งยืนต่อไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ, เพื่อสร้างแนวทางและกลไกการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ, เพื่อให้คณะกรรมาธิการทราบถึงสภาพปัญหา ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของหน่วยงานราชการและประชาชน เพื่อนำไปกำหนดมาตรการและแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ”
ดร.ฉลาดกล่าวเพิ่มเติมว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดโครงการสัมมนาดังกล่าว ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้รับความรู้เกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ทั้งในด้านนโยบายและการปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำความรู้ไปใช้ดำเนินงานในหน่วยงานรัฐ และสามารถตรวจสอบการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ, สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนาแนวทางและกลไกในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตในทุกระดับ ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ โดยเฉพาะการร่วมมือในการติดตามและชี้เบาะแสการทุจริต, คณะกมธ.ปปช.ฯ ได้รับทราบถึงสภาพปัญหา ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งจะช่วยให้มีข้อมูลในการกำหนดมาตรการและแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐมากขึ้น
“สำหรับกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ตัวแทนสมาคมและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ประชาชนทั่วไป และคณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร และบุคคลในวงงานรัฐสภา โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ” ต่อด้วยการอภิปราย หัวข้อ “มาตรการและแนวทางการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ” โดยทีมวิทยากร นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ นายยุทธนา สาโยชนกร รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายธนะโชค รุ่งธิปานนท์ ผู้อำนวยการกองระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและราคากลาง กรมบัญชีกลาง และ รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช