Travel Soft Power & Sport

พังงาเมืองสวยในหุบเขาชุมชนทุ่งคาโงก บูมเที่ยว@สุขจริงสุขจังที่พังงา



พังงา-ผู้ว่าฯพังงา เดินหน้านโยบายกระทรวงมหาดไทย มอบหมาย พช.พังงา ร่วมกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพังงา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และอำเภอเมืองพังงา  บูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สำรวจเส้นทางท่องเที่ยว และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เตรียมเปิดการท่องเที่ยวชุมชนตำบลทุ่งคาโงก กิจกรรม “ล่องแพ ไม้ไผ่ จิบกาแฟ แลช้าง”

นายประพันธ์ วรรณบวร พัฒนาการจังหวัดพังงา และนางสาวพัทธนันท์ สมใจ ประธานบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพังงา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด นางอุบลรัตน์ ไชยสมบัติ ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพังงา/อำเภอเมืองพังงา นางสาววรรณระดี โสติยภัย ปลัดอำเภอเมืองพังงา เจ้าหน้าที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพังงา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประกอบการภาคเอกชน ร่วมสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ตำบลทุ่งคาโงก อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา เพื่อจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ประเด็นที่ 4 ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก และนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา โดยเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ชุมชนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้มาเยือน สร้างงาน สร้างรายได้ ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยมีกิจกรรม ดังนี้

 จุดที่ 1 ล่องแพไม้ไผ่ หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งคาโงก เป็นการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ โดยมีแกนนำ คือนางสาวสุริศา บุญณบุรี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ ภายใต้ชื่อทุ่งคาโงก แอดแวนเจอร์ ทัวร์ เป็นผู้ดำเนินกิจกรรม จุดเด่นคือการล่องแพไม้ไผ่ชมธรรมชาติในคลองพังงา ซึ่งไหลผ่านหลายหมู่บ้านและตัวเมืองพังงาก่อนจะลงสู่อ่าวพังงา โดยนักท่องเที่ยวต้องนั่งรถยนต์ไปส่งยังจุดเริ่มต้นบ้านบางไผ่ ถึงท่าน้ำวัดปัจจันตคาม ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร  สำหรับคลองพังงา เป็นคลองน้ำธรรมชาติ น้ำใส และมีความลึกของระดับน้ำไม่มากนัก เหมาะแก่การล่องแพ อีกทั้งริม 2 ฝั่งคลองที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติ และเรือกสวนของเกษตรกรในพื้นที่ จุดประสงค์เพื่อชมความงามของธรรมชาติและชมวิถีชีวิตของชุมชน

 จุดที่ 2 บางแก้ว อีเลฟเฟ่น แคมป์ บ้านบางม่า หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งคาโงก เริ่มต้นจากมีคนในหมู่บ้านไปทำงานการท่องเที่ยวล่องแก่งที่บ้านสองแพรก และมองว่าลำคลองในหมู่บ้านมีศักยภาพที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวได้ จึงได้เริ่มจัดกิจกรรมปางช้าง ประกอบกับปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวรัสเซีย เข้ามาท่องเที่ยวทำกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อีกจุดหนึ่งของจังหวัดพังงาที่มีความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยมีกิจกรรม โชว์การแสดงของช้าง อาบน้ำช้าง ขี่ช้างชมธรรมชาติ และให้อาหารช้าง 
 จุดที่ 3 ร้านกาแฟชูศรี เดินสกายวอร์ค ดูช้าง หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งคาโงก เป็นพื้นที่พักผ่อนให้บริการอาหาร ตั้งอยู่บนเนินเขา เป็นจุดชมวิวที่มีความงดงาม มีสะพานลอยฟ้าให้ผู้มาเยือนสามารถเดินพักผ่อน ถ่ายรูป และชมธรรมชาติ นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวยังมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวสามารถถ่ายรูปและให้อาหารช้างอีกด้วย 

 จุดที่ 4 บางกัน แคมป์ปิ้ง ที่พักกางเต็นท์ ริมคลอง หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งคาโงก เป็นจุดแคมป์ปิ้งเปิดใหม่ ท่ามกลางธรรมชาติ บรรยากาศล้อมรอบไปด้วยภูเขา ลำธาร มีความเงียบสงบ และคงความเป็นธรรมชาติสูง โดยเน้นกิจกรรมการพักแรมค้างคืน ท่ามกลางธรรมชาติ เหมาะแก่การพักผ่อนของครอบครัวเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การทำอาหาร และการเล่นน้ำ 

 โดยกิจกรรมดังกล่าว ผวจ.พังงา บูรณาการความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพังงา และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพังงา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด อำเภอเมืองพังงา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพังงา สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพังงา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ตำบลทุ่งคาโงก จัดทำโปรแกรมกระตุ้นกิจกรรมชุมชนท่องเที่ยว ส่งเสริมให้คนพังงาเที่ยวพังงา และสื่อสารสร้างการรับรู้ โดยผลดีของการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในระยะยาว คือ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว ทั้งจากค่าบริการล่องแพไม้ไผ่ การขายสินค้าและบริการในพื้นที่ เช่น คาเฟ่ อาหารพื้นถิ่น และกิจกรรมท่องเที่ยวอื่น ๆ และเป็นการสร้างงานและโอกาสในท้องถิ่น ชุมชนสามารถมีอาชีพใหม่หรือต่อยอดอาชีพเดิม เช่น ไกด์นำเที่ยว คนถ่อแพ พนักงานร้านค้า รถนำเที่ยว และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งพัฒนาตำบลทุ่งคาโงก อำเภอเมืองจังหวัดพังงา ให้กลายเป็นจุดเช็กอินใหม่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง โดยยังคงรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของชุมชน และขยายโอกาสทางการตลาดและเครือข่ายการท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ในจังหวัดพังงา เช่น อ่าวพังงา เขาหลัก หรือภูเก็ต เพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในภาพรวม