Travel Sport & Soft Power
อพท.จับมือท้องถิ่นบูมท่องเที่ยว3จังหวัด ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
พัทลุง-อพท.จับมือหน่วยงานภาครัฐ อปท. ภาคเอกชน ฯขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ใน จ.สงขลา จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นในการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายจากพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด จ.สงขลา จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราชนั้น มติที่ประชุมยินดีให้การสนับสนุน อพท. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งทาง อพท.จะได้ประสานหน่วยงานภาครัฐ อปท. ภาคเอกชน ภาคประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อรวบรวมและศึกษาผลการวิจัย โครงการที่เกี่ยวข้องของภาคีเครือข่าย นำมาบูรณาการเข้ากับแผนงานในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และระดับภาค ให้มีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนแผนร่วมกันต่อไป
ทั้งนี้ อพท. จะนำจุดเด่นของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่สำคัญ คือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในแถบนี้ทั้งทางด้านทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ คุณค่าทางธรรมชาติที่งดงาม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตนำมาพลิกฟื้นให้นักท่องเที่ยวสามารถจับต้องได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม โดย อพท. จะได้นำศักยภาพที่เด่นชัดเหล่านี้มาส่งเสริมและพัฒนาร้อยเรียงให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีความพร้อมที่จะนำเสนออัตลักษณ์ของพื้นที่ให้กับนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชม โดยจะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทางการท่องเที่ยว การสร้างคุณค่าและมูลค่าผ่านเรื่องเล่า การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้เกิดกับชุมชนท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม อันจะนำไปสู่ การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวด้วยชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวนั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท. โดยคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบแล้ว อพท. จะเร่งดำเนินการจัดตั้งสำนักงานพื้นที่พิเศษ เพื่อนำองค์ความรู้มาพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน โดยนำเอาเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกมาใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน และการใช้เครื่องมือมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อประเมินผลและติดตามการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ หลังจากขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ในระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2565–2570) แล้ว ก็จะมีการประเมินความสำเร็จวัดระดับความยั่งยืนพื้นที่และชุมชนเจ้าของแหล่งสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเองแล้ว อพท. จะถอนตัวตามแผนการถอนตัวจากพื้นที่อย่างเหมาะสม ซึ่ง อพท. เป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวให้พื้นที่ที่ได้รับการพัฒนา สามารถบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวด้วยตนเอง เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม นี่คือการบูรณาการ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ที่แท้จริง