EDU Research & Innovation

'ไทย'รับจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างปท.ครั้งแรกเฉลิมพระเกียรติ70ปี



กรุงเทพฯ-24 กุมภาพันธ์ 2568 – ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 (The 21st International Geography Olympiad – iGeo 2025) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2568 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร โดยมีเยาวชนจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์

การแข่งขันครั้งนี้ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) มอบหมายให้ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดำเนินงานของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขัน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ผู้ทรงริเริ่มภูมิศาสตร์โอลิมปิกในประเทศไทยให้ไปสู่ระดับสากล

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิ สอวน. กล่าวว่า การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 หรือ The 21st International Geography Olympiad เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วโลกได้แสดงความสามารถด้านภูมิศาสตร์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางวิชาการและวัฒนธรรมกับเพื่อนเยาวชนจากนานาประเทศ โดยมีการจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1996 ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์  และการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนไทยและเยาวชนทั่วโลกตระหนักในความสำคัญของภูมิศาสตร์ในการพัฒนาโลกยุคใหม่ อีกทั้งยังช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงและ ศักยภาพด้านวิชาการของประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ และเป็นโอกาสสำคัญในการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์ในระดับโรงเรียน

ด้าน รองศาสตราจารย์ผ่องศรี จั่นห้าว ประธานคณะกรรมการวิชาภูมิศาสตร์ มูลนิธิ สอวน.ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของประเทศไทยว่า การเริ่มต้นของการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกในประเทศไทยเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2555 เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าทรงเสด็จและกล่าวปาฐกถาที่งาน International Geography Conference ณ มหาวิทยาลัยโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิ สอวน. ศึกษาและส่งเสริมให้นักเรียนไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันด้านภูมิศาสตร์ โดยมูลนิธิ สอวน. ได้ระดมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตรและตำราภูมิศาสตร์โอลิมปิก สำหรับอบรมครูและนักเรียน จนใน พ.ศ. 2558 ได้ส่งผู้แทนไทยเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรก และต่อมาได้คัดเลือกผู้แทนไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับนานาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2560 มูลนิธิ สอวน. ได้จัดตั้งศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกรวม 15 แห่งทั่วประเทศ (7 ศูนย์มหาวิทยาลัยและ8 ศูนย์โรงเรียน) เพื่อเป็นสนามสอบและค่ายอบรมคัดเลือกผู้แทนไปแข่งขันในระดับนานาชาติ

จากการที่ประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันด้านภูมิศาสตร์โอลิมปิก ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า สพฐ. มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงให้การสนับสนุนการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์ในโรงเรียนทั่วประเทศ โดยสพฐ. และได้ร่วมกับมูลนิธิ สอวน. ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ในการคัดเลือกโรงเรียนที่มีศักยภาพตั้งเป็นศูนย์โรงเรียนโอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาภูมิศาสตร์ ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช และโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย พร้อมทั้งดำเนินการอบรมครูภูมิศาสตร์
ตามแนวทางหลักสูตรภูมิศาสตร์โอลิมปิกวิชาการเป็นประจำทุกปี โดยเชื่อมั่นว่าการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยในปีนี้ จะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจ
และพัฒนาตนเองในสาขาภูมิศาสตร์มากยิ่งขึ้น

ด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ ประกาศถึงความพร้อมในการจัดงาน โดยศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาความรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของสังคมและโลก มุ่งมั่นส่งเสริมการศึกษาด้านภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายของโลกยุคปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ที่นำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ เป็นการแสดงศักยภาพด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในการรองรับการแข่งขันระดับนานาชาติ อาทิ ศูนย์ทดสอบทางวิชาการ หอประชุมใหญ่ และ
ศาลาพระเกี้ยวสำหรับงาน Cultural Night 

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ
ในการจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 ในปี ซึ่งภาควิชาภูมิศาสตร์เป็นภาควิชาหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ ที่มีความแข็งแกร่งทางวิชาการ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังสำคัญของคณะอักษรศาสตร์ โดยภาควิชาภูมิศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. รับผิดชอบโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด ยกเว้นโรงเรียนที่เป็นศูนย์ฯ ในการอบรมและคัดเลือกผู้แทนศูนย์ไปแข่งขันในระดับชาติ โดยนักเรียนจากศูนย์ฯ จุฬาฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศ เพื่อไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ใน พ.ศ. 2566 จำนวน 2 คน และ พ.ศ. 2567 จำนวน 1 คน
จากผู้แทนประเทศไทยปีละ 4 คน ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนานักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปสู่ระดับนานาชาติ

สำหรับรายละเอียดการจัดงาน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนิตา ดวงยิหวา หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศนั้น เป็นความร่วมมือระหว่างภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการด้านภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย โดยการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศจะจัดให้มีขึ้นในช่วงวันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 1 สิงหาคม พ.ศ. 2568 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ณ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเช้าวันอาทิตย์ที่27 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจากประมาณ 50 ประเทศ โดยมีรูปแบบการแข่งขันและกิจกรรมเสริมการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักได้แก่ การสอบข้อเขียน การสอบภาคสนาม และ การสอบมัลติมีเดีย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความรู้ ได้แก่ การจัดนิทรรศการโปสเตอร์ของแต่ละประเทศ การทัศนศึกษาในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของประเทศไทย เช่น การเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อุทยานธรณีโคราชและแหล่งมรดกโลกศรีเทพ และการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ที่จังหวัดน่าน