In Global
บทวิเคราะห์ ต้องปราบปรามอาชญากรรม แก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ต่อเนื่อง

หลังเกิดเหตุการณ์ที่นายหวัง ซิง นักแสดงจีนถูกหลอกลวงไปยังเมืองเมียวดีประเทศเมียนมาเมื่อไม่นานมานี้ จีนได้ยกระดับความร่วมมือกับไทย เมียนมา และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการปราบปรามอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ และได้บรรลุผลสำเร็จในเบื้องต้น
หลังเกิด "เหตุการณ์หวังซิง" ทุกฝ่ายได้ส่งเสริมการประสานงานและดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ประเทศไทยเริ่มตัดการส่งไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และน้ำมันเชื้อเพลิงใน 5 จุดตามชายแดนไทย-เมียนมา ครอบคลุมพื้นที่เมียวดี ท่าขี้เหล็กและอื่นๆที่เป็นแหล่งที่ตั้งศูนย์กลางแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ นอกจากนี้ ไทยยังได้เพิ่มจุดตรวจทั่วประเทศเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและการค้ามนุษย์ ประเทศลาวได้ลดการส่งไฟฟ้าไปยังพื้นที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาได้ดำเนินการปราบปรามศูนย์กลางแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ในพื้นที่เมียวดีและสถานที่อื่นๆ ได้ควบคุมตัวชาวต่างชาติประมาณ 10,000 คน โดยได้ส่งตัวบางส่วนมายังจังหวัดตากของไทยแล้ว ประเทศจีนได้จัดเครื่องบินพิเศษมารับชาวจีนที่เป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์จำนวน 621 คนกลับไปยังประเทศจีนเมื่อวันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เชื่อว่าการดำเนินการปราบปรามดังกล่าวจะได้รับการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่แม้จะมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์กลางแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ก็ตาม ผลการสำรวจความคิดเห็นในประเทศไทยที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้แสดงให้เห็นว่า อาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ได้กลายเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากสังคมไทยและผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ต่างก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับปัญหานี้ และหวังว่า รัฐบาลจะดำเนินการปราบปรามอย่างเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันประเด็นควรทำอย่างไรจึงจะประกันให้การร่วมมือกันปราบปรามประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทุกฝ่ายจับตา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักว่า ผลสำเร็จที่ได้รับในวันนี้เป็นเพียงก้าวเล็กๆก้าวแรกเท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลมากจาก "ชัยชนะ" ในที่สุด
ดังที่ทราบกันดีว่า อาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ที่แพร่หลายนับวันกลายเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยระดับโลกมากยิ่งขึ้น เพราะควบคู่ไปกับการพัฒนาก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ก็มีการพัฒนาวิธีการหลอกหลวงและมีความหลากหลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ตัวอย่างเช่น จากการหลอกลวงทางโทรศัพท์แบบดั้งเดิมไปจนถึงการฟิชชิ่งในโลกออนไลน์ แพลตฟอร์มการลงทุนปลอม และการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการหรือศาล ฯลฯในทุกวันนี้ นอกจากนี้ อาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ยังได้พัฒนาเป็นเครือข่ายอุตสาหกรรมข้ามชาติ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล การสนับสนุนทางเทคโนโลยี ไปจนถึงการโยกย้ายเงิน ต่างก็มีการแบ่งงานในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน ทั้งยังมีความมิดชิดในระดับสูงด้วย ซึ่งได้เพิ่มความยากลําบากในการปราบปราม
สิ่งที่น่ากังวลยังมีอีกหลายประการ เช่น เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฏหมายของรัฐบางคน เช่น ตำรวจ ได้ทำตัวเป็น “ร่มคุ้มกัน” ให้กับอาชญากรรมการหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว หัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ในเมียวดีและที่อื่นๆ จำนวนหนึ่งไม่เพียงแต่ยังคงลอยนวลหลบหนีการจับกุมได้เท่านั้น หากยังมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะย้ายฐานการหลอกลวงไปที่อื่นด้วยวิธี “ดาวกระจาย” เพื่อกลับมาทำผิดซ้ำอีกด้วย สถานการณ์ภายในประเทศเมียนมาที่ซับซ้อนก็ทำให้การร่วมกันปราบปรามมีความยากลำบาก
ดังนั้น การปราบปรามอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์จึงไม่สามารถสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น จำเป็นต้องมีความพยายามและความร่วมมือจากทุกประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมความร่วมมือในระดับทวิภาคีและพหุภาคีให้มีกลไกความร่วมมือในระยะยาว การร่วมมือด้านเทคโนโลยีเพื่อรับมือกับความท้าทายที่อาชญากรใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ในการหลอกลวง นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดการตั้งแต่ต้นทาง เช่น การพัฒนายกระดับเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น การเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการจ้างงาน เพื่อลดปัจจัยที่ทำให้เกิดอาชญากรรม
เขียนโดย ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG)