Authority & Harm
โฆษกศาลยุติธรรมชี้แจงกรณีศาลอท.ภ.3 พิพากษาคดีอดีตพาณิชย์อุบลฯฮั้วประมูล

กรุงเทพฯ-โฆษกศาลยุติธรรมชี้แจงกรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค๓ พิพากษาคดี อดีตพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานีกับพวกฮั้วประมูลโครงการภาครัฐ ๒๖ สัญญา
จากที่ปรากฏข้อมูลในสื่อโซเชียลมีเดียว่ามีการยื่นฟ้องนายกิตติทัศน์ วิศาลนพศักดิ์ หรือวัทธิกร หรือมังกร ใสงาม อดีตพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี กับพวกรวม ๑๐คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๓ เป็นคดีทุจริต ๒๖ โครงการ ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุกกว่า ๑๓๐ ปี แต่รอการลงโทษ ทำให้จำเลยกับพวกไม่ต้องรับโทษจำคุก ทั้งที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดว่าร่ำรวยผิดปกติและใช้อำนาจเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง จนถูกไล่ออกจากราชการนั้น
นายรัฐวิชญ์ อริยพัชญ์พล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า คดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายกิตติทัศน์ วิศาลนพศักดิ์ หรือวิทธิกร หรือมังกร ใสงาม ขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจำเลยที่ ๑ พร้อมกับจำเลยที่ ๒ - ที่ ๑๐ ซึ่งมิได้เป็นเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ล้วนเป็นนิติบุคคลและบริวารผู้ใกล้ชิดกับจำเลยที่ ๑ และร่วมกับจำเลยที่ ๑ จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดเพื่อยื่นประมูลงานจัดนิทรรศการ งานแสดงสินค้า งานประชาสัมพันธ์ และงานอื่นๆ ของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งหน่วยงานราชการอื่น ๆ ในลักษณะสมยอมราคากันรวม ๒๖ สัญญา โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวไม่ได้มีวัสดุอุปกรณ์จัดสถานที่ไม่มีอุปกรณ์จัดแสงสีเสียง ไม่มีอุปกรณ์เพื่อการแสดงและไม่มีลูกจ้างหรือทีมงานที่จะใช้จัดงานโดยตรง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖, ๙๑, ๑๕๑, ๑๕๒, ๑๕๗, ๒๖๔, ๒๖๘ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๑๗๒ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔, ๗, ๑๐, ๑๑, ๑๒ และขอให้นับโทษต่อสำหรับจำเลยบางราย
จำเลยทั้งสิบให้การรับสารภาพ แต่เนื่องจากความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๑ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๑, ๑๒ เป็นความผิดที่มีกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ ๕ ปี ขึ้นไป โจทก์จึงนำพยานหลักฐานเข้าสืบประกอบคำรับสารภาพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖
ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ วางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี ๓,๔๔๘,๒๕๐ บาท ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ วางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี คนละ ๑,๗๒๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๖,๘๙๘,๒๕๐ บาท
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค ๓ รับฟังคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสิบ ประกอบกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง รวม ๒๖ สัญญา (๒๖ กรรม/กระทง) ให้จำคุกกระทงละ ๕ ปี ๓ เดือน และปรับกระทงละ ๑๐๒,๐๐๐ บาท รวมจำคุก ๑๓๐ ปี ๗๘ เดือน และปรับ ๒,๖๕๒,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๖๕ ปี ๓๙ เดือน และปรับ ๑,๓๒๖,๐๐๐ บาท โดยในกรณีกระทำความผิดหลายกระทง หากกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน ๑๐ ปี ขึ้นไป ให้จำคุกไม่เกิน ๕๐ ปี จึงให้จำคุกจำเลยที่ ๑ เป็นเวลา ๕๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ ๑ ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงระวางโทษลดหลั่นกันไปตามจำนวนกรรมและวาระที่กระทำความผิด
ในการพิจารณาว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยทั้งสิบหรือไม่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค ๓ พิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนคดี และคำนึงถึงหลายปัจจัย ได้แก่ การรู้สำนึกในการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ความถูกต้องครบถ้วนในการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลย ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ราชการภายหลังการเข้าทำสัญญาของจำเลย การได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิด ความพยายามบรรเทาผลร้ายโดยวางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี พฤติการณ์ความร้ายแรงแห่งคดีประวัติของจำเลย และโอกาสในการแก้ไขปรับปรุงตนเองให้เป็นพลเมืองดีในอนาคต โดยเมื่อพิจารณาปัจจัยทั้งหมดนี้แล้ว จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำเลยไว้คนละ ๕ ปี แต่เพื่อให้หลาบจำ เห็นควรวางโทษปรับอีกสถานหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติอย่างเคร่งครัดมีกำหนด ๓ ปี ให้จำเลยทุกคนไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือน ตลอดระยะเวลาที่คุมความประพฤติให้จำเลยทุกคนทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลาคนละ ๗๒ ชั่วโมง และให้ละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก หากจำเลยผิดเงื่อนไขให้พนักงานคุมประพฤติรายงานศาลเพื่อเปลี่ยนโทษจำคุกที่รอไว้เป็นโทษจำคุกทันที
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากภายหลังอ่านคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค ๓ แล้ว โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่๒๔ มี.ค. ๒๕๖๘ กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์จะพิจารณายื่นอุทธรณ์หรือไม่ ต่อไปนอกจากนี้ นายรัฐวิชญ์ อริยพัชญ์พล ยังอธิบายต่อไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การ “รอการลงโทษ”ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ไว้ ดังนี้
๑. การจะใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำเลยรายใด อันดับแรกจะต้องพิจารณาก่อนว่า คดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยเกิน ๕ ปี หรือไม่ หากโทษที่ศาลจะลงแก่จำเลยมีกำหนดเกินกว่า ๕ ปี ย่อมไม่สามารถใช้ดุลพินิจรอการลงโทษได้ แต่หากโทษที่ศาลจะลงแก่จำเลยมีกำหนดไม่เกิน ๕ ปี ศาลย่อมมีดุลพินิจพิจารณาต่อไปว่าจะรอการลงโทษหรือไม่ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า จำเลยต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือ หากเคยรับโทษจำคุกมาก่อนต้องเป็นกรณีที่เป็นการกระทำโดยประมาท หรือลหุโทษ หรือโทษจำคุกไม่เกิน๖ เดือน หรือ หากเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่พ้นโทษมาแล้วเกินกว่า ๕ ปี แล้วมากระทำผิดอีก โดยความผิดครั้งหลังเป็นการกระทำโดยประมาท หรือลหุโทษ จึงจะอยู่ในเงื่อนไขที่รอการลงโทษได้
๒. ในกรณีคดีที่เป็นข่าวนี้ เป็นกรณีที่จำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ และศาลจะเรียงกระทงลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ซึ่งหากต้องพิจารณาว่าจะรอการลงโทษจำเลยได้หรือไม่ จะต้องแยกพิจารณาโทษที่ศาลจะลงแก่จำเลยจริง ๆ เป็นรายกระทงความผิดไป หากมีเหตุบรรเทาโทษก็ให้พิจารณาลดโทษรายกระทงให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จึงจะนำมาพิจารณาว่าโทษจำคุกแต่ละกระทงมีกำหนดเกิน ๕ ปี หรือไม่ เช่นในคดีนี้ ศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ รวม ๒๖ กระทง กระทงละ ๕ ปี ๓ เดือน โดยศาลลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพทุกกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ดังนั้น จึงเท่ากับว่าในแต่ละกระทงคงลงโทษกระทงลง ๒ ปี ๗ เดือน ๑๕ วัน ซึ่งไม่เกิน ๕ ปี จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษได้ทุกกระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ เทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๙๔/๒๕๒๓, ๗๘๙/๒๕๒๔, ๑๑๐๒/๒๕๒๕
๓. แม้จะอยู่ในเกณฑ์ที่ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการรอการลงโทษได้ แต่ก่อนที่ศาลจะใช้ดุลพินิจรอการลงโทษ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ก็วางหลักเกณฑ์ให้ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงอีกหลากหลายปัจจัย เช่น อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกผิด และการพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปราณีดังนั้น ศาลจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ปรากฏในสำนวนคดีประกอบกันก่อนใช้ดุลพินิจพิจารณาว่า จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยรายใดหรือไม่ไม่ได้พิจารณาจากปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดเป็นการเฉพาะ